[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 02] Skin-to-Skin Contact สัมผัสแรกคือโลกของลูก

Alternative Textaccount_circle
event

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปเข้าคลาสเตรียมความพร้อมก่อนคลอดที่โรงพยาบาลร่วมกับว่าที่คุณพ่อคุณแม่คนอื่นๆ คำถามพื้นฐานที่ได้ยินมากที่สุดเห็นจะไม่พ้นเรื่องเจ็บท้องคลอดเป็นอย่างไร คุณพ่อตัดสายสะดือได้ไหม ควรหายใจและทำอย่างไรในห้องคลอด ฯลฯ แต่คำถามที่ผู้เขียนเห็นว่าแปลกและน่าสนใจดี คือ โรงพยาบาลมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับการให้ทารกแรกเกิดได้สัมผัสกับผิวของแม่ (Skin-to-Skin Contact) ทันทีหลังคลอดและมากที่สุดตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล รวมถึงการให้ทารกได้อยู่กับพ่อแม่ในห้อง (Rooming In) ในกรณีที่ไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ

 

ที่เห็นว่าน่าสนใจ ก็เพราะก่อนหน้านี้ ผู้เขียนเคยเห็นภาพคุณพยาบาลอุ้มทารกน้อยที่อาบน้ำเรียบร้อยห่อผ้าเอามาให้คุณแม่อุ้ม จากนั้นก็ถูกพาไปอยู่ในเนิร์สเซอรี่ นอนเรียงกันเรียบร้อยเตียงใครเตียงมัน มีคุณพ่อคุณแม่มาเกาะกระจกชี้ชวนกันดู แถมยังเคยได้ฟังตลกประเภทที่ลูกหน้าไม่เหมือนพ่อแม่แล้วมักจะถูกล้อว่า “สงสัยจะหยิบผิดมาจากโรงพยาบาล” ที่ยิ่งตอกย้ำให้เกิดภาพจำว่าเด็กเกิดใหม่ต้องไปอยู่เนิร์สเซอรี่เข้าไปใหญ่ แต่พอมาอยู่ที่พอร์ตแลนด์ กลับกลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ที่นี่ล้วนอยากจะแน่ใจว่าแม่และลูกจะได้สัมผัสผิวและอยู่ด้วยกันโดยถูกรบกวนน้อยที่สุด ผู้เขียนลองหาข้อมูลเพิ่มเติมและพูดคุยกับผู้คนดู ก็พบว่ามีเหตุผลน่าคิดดีทีเดียว

 

ลองนึกว่าเราเป็นทารกน้อยที่อยู่ในท้องแม่มา 9 เดือน ร่างกายสัมผัสกับผนังมดลูกและน้ำคร่ำอุ่นๆ อยู่ตลอดเวลา เสียงที่ได้ยินส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงหัวใจเต้นและเสียงพูดของแม่ของพ่อ ไม่มีแสงอะไรมารบกวน แต่พอคลอดออกมาเท่านั้นละ หนาวก็หนาว เสียงอะไรก็ไม่คุ้น ผิวสัมผัสที่เคยอบอุ่นหายไปไหนก็ไม่รู้ แถมมีแสงสว่างจ้ามากวนตา (ถึงแม้หนูจะยังมองเห็นไม่ชัดก็เถอะ) แน่นอนว่าหนูน้อยต้องตกใจมากทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะปลอบโยนให้หนูคลายความตื่นตระหนกคงไม่พ้นเสียงคุ้นๆ และสัมผัสอุ่นๆ ของอกแม่ ถึงแม้ใครจะบอกว่าห่อตัว (swaddle) ทารกให้แน่นๆ จะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย แต่นั่นย่อมเทียบไม่ได้กับสัมผัสจริงๆ ของแม่และพ่อที่เต็มไปด้วยความรัก

 

มีงานวิจัยทางการแพทย์มากมายยืนยันว่า uninterrupted skin-to-skin contact* ในชั่วโมงแรกหลังจากคลอดนั้น จะทำให้ทารกปรับตัวสู่โลกภายนอกได้ดีกว่า ทั้งเรื่องการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย ระดับกลูโคสในเลือด อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการของสมองและสัญชาตญาณการดูดนมโดยไม่ต้องมีคนช่วย ทารกจะได้รับภูมิคุ้มกันต่อสภาวะแวดล้อมเดียวกับแม่ตั้งแต่แรกเกิดทำให้เติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรง รวมทั้งจะส่งผลระยะยาวต่อความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กด้วย และในทางกลับกัน คุณแม่ที่ได้สัมผัสกับผิวของทารกตั้งแต่แรก ก็จะมีพฤติกรรมความเป็นแม่ (เช่น ความผูกพันกับลูก การจูบกอดหอมลูกและระยะเวลาในการให้นม) สูงกว่า และโอกาสในการซึมเศร้าหลังคลอด (postpartum depression) น้อยกว่าด้วย

 

โรงพยาบาลบางแห่งที่นี่ถือว่าชั่วโมงแรกหลังจากคลอดนั้นเป็น Sacred Hour หรือชั่วโมงศักดิ์สิทธิ์ที่พ่อแม่ลูกจะเริ่มต้นทำความรู้จักกันและสานสายใยรักในครอบครัว การฉีดวัคซีน อาบน้ำ หรือกิจกรรมอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องที่รอได้ทั้งสิ้นผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องดีมีประโยชน์มากมายอย่างนี้ จึงแจ้งไปใน birthing plan (เป็นรายละเอียดความต้องการของเราในระหว่างคลอดและหลังคลอด สำหรับแปะไว้ในห้องคลอด นางพยาบาลที่เข้ามาดูแลจะได้ปฏิบัติตามได้ถูก )และตั้งใจว่าเหนื่อยยากอย่างไรก็จะพยายามทำให้ได้

 

เมื่อถึงวันคลอดจริง พอลูกน้อยคลอดออกมา สามีตัดสายสะดือเรียบร้อย สิ่งแรกที่คุณพยาบาลทำก็คือเช็ดตัวหนูน้อย (อย่างรวดเร็วมาก) แล้ววางตัวแดงๆ อุ่นๆ ของแกบนหน้าอกของเรา (ผู้เขียนเคยอ่านเจอว่าสำหรับ birthingcenter บางแห่ง เขาจะวางทารกบนท้องของแม่ ให้หนูน้อยค่อยๆ คลานขึ้นมาหาหน้าอกเพื่อดูดนม ว่ากันว่าการซ้อมเตะในท้องแม่ ก็เพื่อให้หนูน้อยสามารถคืบคลานได้ในการนี้ และแรงกดจากเท้าน้อยๆ บวกกับฮอร์โมน oxytocin ที่หลั่งออกมาหลังจากหัวนมถูกกระตุ้น จะช่วยให้มดลูกบีบรัดตัว คลอดรก (placenta) ออกมาได้อย่างปลอดภัย และช่วยให้แม่ผ่อนคลาย สามารถรับมือกับความเจ็บและความเหนื่อยล้าได้ดีขึ้นด้วย ) ลูกสาวผู้เขียนค่อยๆ ลืมตามองหน้าผู้เขียนอยู่พักหนึ่งแล้วก็เริ่มต้น rooting คือส่ายหน้า อ้าปากหาหัวนมเพื่อดูดนม ซึ่งเป็นสัญชาตญาณเบื้องต้นของทารก มือเท้าที่ตอนแรกๆ ยังเขียวอยู่เล็กน้อยก็เริ่มแดงขึ้น แกพยายามดูดนมอยู่พักหนึ่งแล้วก็นอนพัก เราสามคนพ่อแม่ลูกจับมือมองหน้ากัน เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ จนแม้แต่สามีผู้เขียนยังถึงกับร้องไห้ออกมา

 

คุณ midwife และพยาบาลปล่อยให้เราได้อยู่ด้วยกันราวชั่วโมงหนึ่งถึงขออนุญาตอาบน้ำและชั่งน้ำหนักหนูน้อยแล้วปล่อยให้เราได้อยู่ด้วยกันต่อไปในห้อง ซึ่งผู้เขียนต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราทั้งเหนื่อยและเพลียจากการคลอดมาทั้งคืน แล้วทันใดนั้น ลูกน้อยก็เริ่มร้อง ผู้เขียนให้นมก็ยังไม่เป็น อุ้มเด็กก็ไม่เคย ตะกุกตะกักทุลักทุเลกันทั้งพ่อแม่ลูก คุณพยาบาลแวะเข้ามาเห็นสภาพผู้เขียนแล้วบอกว่าจะให้ลูกไปอยู่เนิร์สเซอรี่ก็ได้นะ เราจะได้พัก แต่คุณสามียืนยันว่าเหนื่อยยังไงก็อยากให้ลูกได้อยู่กับเรา ซึ่งผู้เขียนต้องขอบคุณมาถึงทุกวันนี้ เพราะสองวันแรกที่อยู่ในโรงพยาบาลนั้น เป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้ ต่อสู้ ให้กำลังใจกันอย่างมากจริงๆ (ฝรั่งไม่นิยมมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลทันทีหลังคลอดคงเพราะไม่อยากรบกวน และต้องการให้ครอบครัวใหม่ได้พักผ่อนกันตามลำพัง)

 

ลูกสาวตัวน้อยดูดนมไปทั้งสิ้น 22 ครั้ง! ทำให้หลังจากนั้นน้ำนมมาเยอะมาก และไม่เคยมีปัญหานมคัดหรือน้ำนมน้อยเลย ช่วงเดือนแรกๆ ที่ลูกร้องเยอะมากๆ อุ้มให้นมทีไรลูกน้อยมักจะหลับคาอกไปทุกที (บางทีแม่ก็หลับด้วย–คุณแม่หลายคนคงมีประสบการณ์แบบนี้) ก็แหม…มันช่างสบาย อบอุ่นปลอดภัย แถมหน้าอกของแม่ยังคอยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับร่างกายของหนูน้อยด้วย ดีกว่าตู้อบและเตียงอุ่นรุ่นไหนๆ ในโลกเสียอีกนะ มีผลดีมากมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างนี้ เห็นทีจะต้องส่งเสริมให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันให้มากที่สุด เพราะสัมผัสแรกของอกแม่นั้นคือโลกทั้งใบของลูก ที่จะสร้างความมั่นคงในจิตใจและความสามารถที่จะ ‘รัก’ ให้กับหนูน้อยได้จนตลอดชีวิต

 

** ในกรณีที่คุณแม่ผ่าคลอด โรงพยาบาลบางแห่งที่นี่ก็วางลูกน้อยบนหน้าอกแม่ในระหว่างคุณหมอเย็บแผล หรือให้คุณพ่อเป็นคนอุ้มลูกน้อยแนบอกได้ ส่วนถ้าทารกที่คลอดก่อนกำหนดและต้องไปอยู่ในห้องดูแลพิเศษ การได้รับสัมผัสจากคุณพ่อคุณแม่อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง จะช่วยให้หัวใจและปอดทำงานได้ดีขึ้น อยู่ในห้องพิเศษน้อยลง รวมทั้งกระตุ้นให้แม่มีน้ำนม ซึ่งเป็นอาหารที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มน้ำหนักและภูมิต้านทานให้หนูน้อยด้วย

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up