[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 01] คลอดทางเลือก

Alternative Textaccount_circle
event

สำหรับคุณผู้หญิงที่กำลังจะเป็นคุณแม่ ถ้าบอกกับใครว่า ‘มีข่าวดี’ หรือพูดง่ายๆ ว่าท้อง คำถามแรกๆ ที่มักจะได้ยินก็คือ ‘ฝากท้องที่ไหน’ ซึ่งอนุมานได้ว่าหมายถึงโรงพยาบาลและคุณหมอท่านใด แต่ถ้าบอกใครๆ ที่พอร์ตแลนด์ด้วยข่าวดีเดียวกัน เราจะได้รับคำถามกลับมาว่า ‘จะคลอดยังไง’ ซึ่งฟังดูแปลกแต่น่าสนใจดีทีเดียว

 

ผู้เขียนเองตอนอยู่เมืองไทยก็เคยได้ยินแต่การไปฝากท้องและคลอดที่โรงพยาบาล แต่พอมาอยู่ที่นี่ เริ่มได้รู้จักและได้ยินคนพูดถึง midwife (หรือที่คนไทยเราเรียกหมอตำแย แต่ที่นี่จะเป็น Certified Nurse Midwife/CNM หรือพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมในการผดุงครรภ์) มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มสนใจหาข้อมูลจนได้พบว่ามีทางเลือกอื่นๆ ในการฝากท้องและคลอดลูกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยคลอด (Doula – ดูล่า) ศูนย์คลอด (Birthing Center) หรือคลอดที่บ้าน (Home Birth) ทำเอางงเลยทีเดียวว่าจะเลือกแบบไหนดี ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะไปฝากท้องที่ Maternal Care Clinic ของโรงพยาบาลที่เรามีประกันสุขภาพอยู่ เพราะที่นั่นมีทีม midwife ที่ได้รับการชื่นชมว่าดีมีคุณภาพมาก อัตราการคลอดธรรมชาติสูงและอัตราการผ่าท้องคลอด (cesarean section) ต่ำกว่าโรงพยาบาลโดยทั่วไป

 

ข้อดีของการได้รับการดูแลโดย midwife อย่างแรกก็คือความอุ่นใจและความเป็นกันเอง บรรยากาศในการไปพบ midwife แต่ละครั้งจะสบายๆ พูดคุยกันเหมือนไปเจอพี่ๆ น้าๆ ป้าๆ ที่หัวอกเดียวกัน (midwife ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและส่วนใหญ่มีลูกแล้ว) เพราะคนท้องไม่ใช่คนป่วย ดังนั้นถ้าคุณแม่มีร่างกายแข็งแรงดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหาหมอ ถูกไหมคะ (ที่คลินิคมีสูตินรีแพทย์ประจำอยู่ด้วย แต่จนบัดนี้ ลูกสาวผู้เขียนอายุจะขวบหนึ่งอยู่แล้ว ผู้เขียนยังไม่เคยพบคุณหมอท่านนั้นเลยสักครั้งเพราะไม่ได้มีปัญหาใดๆ) สิ่งสำคัญสำหรับว่าที่คุณแม่คือการสร้างความเข้าใจและความมั่นใจ ว่าทั้งคุณแม่และลูกในท้องแข็งแรงดี และการเตรียมความพร้อมสำหรับวันสำคัญที่กำลังจะมาถึงซึ่งแน่นอนว่าทั้งน่าตื่นเต้นและน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งมีลูกคนแรก

 

เมื่อเริ่มเจ็บท้องคลอด ก็ได้เวลาโทรบอก midwife ซึ่งจะซักถามอาการเพื่อความแน่ใจว่าเป็นการเจ็บท้องจะคลอดจริงๆ ไม่ใช่ Braxton Hicks หรือการบีบรัดตัวของมดลูกก่อนคลอด เมื่อแน่ใจแล้ว midwife ก็จะเดินทางมาที่บ้าน (สำหรับคนที่เลือก Home Birth) หรือไปเจอกันที่ Birthing Center ซึ่งบรรยากาศเหมือนบ้าน ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์ใดๆ ให้รู้สึกเครียด อันจะทำให้คุณแม่ผ่อนคลายกว่าและส่งผลดีต่อการคลอดด้วย ทีแรกผู้เขียนก็กระเหี้ยนกระหือรือจะคลอดที่บ้านให้ได้ แต่เนื่องจากอายุใกล้จะ 40 แล้ว ครอบครัวไม่อยากให้เสี่ยง สุดท้ายเลยเลือกไปคลอดที่โรงพยาบาล เพราะมีทั้งพยาบาล ดูล่า และคุณมิดไวฟ์รวมพลังกันดูแลอย่างเต็มที่ แต่ถ้ามีอะไรฉุกเฉินก็พร้อมจะแก้ไขได้ทันท่วงที เรียกว่าเป็น the best of both worlds ก็ว่าได้

 

ที่เมืองฮิปปี้สมัยใหม่อย่างพอร์ตแลนด์ (หรืออย่างน้อยก็คนรู้จักของผู้เขียนที่นี่) เน้นมากเรื่องการคลอดธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงการไม่ใช้ยาบล็อกหลังหรือยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูก ไม่แทรกแซงขัดขวางกระบวนการคลอดตามธรรมชาติถ้าหากไม่จำเป็นจริงๆ (เช่น สายรกพันคอ หรือเด็กไม่หันหัวลงถึงแม้จะพยายามใช้มือหมุนช่วยแล้ว หัวใจเด็กเริ่มเต้นช้าลงจนน่าเป็นห่วง ฯลฯ) การปล่อยให้คนท้องสามารถเคลื่อนไหวและเลือกท่าต่างๆ ในการคลอดได้อย่างอิสระ (ห้องคลอดที่นี่ใหญ่มาก) การผ่าท้องคลอดถือเป็นทางเลือกอันดับสุดท้ายก็ว่าได้ เพราะธรรมชาติสร้างกระบวนการต่างๆ มาอย่างมีเหตุผลที่สุด ผู้เขียนเองถึงแม้ตอนคลอดจะเจ็บปางตาย แต่มองไปเห็นคุณสามีและทีม midwife คอยให้กำลังใจ คอยเป็นโค้ชให้เราผ่อนคลายและหายใจอย่างถูกต้อง บวกกับท่องคาถา “I can do it.. I can do it เราทำได้… เราต้องทำได้!”

 

จนสุดท้าย ลูกสาวตัวน้อยก็คลอดออกมาได้โดยไม่ได้รับผลข้างเคียงจากยาใดๆ และทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่าทุกความเจ็บปวด และทุกการบีบรัดตัวของมดลูกด้วยพลังมหาศาลที่จักรวาลส่งผ่านมายังร่างกายของเรานั้น มีความสำคัญต่อกระบวนการให้กำเนิดชีวิตใหม่อย่างแท้จริง เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ถึงแม้จะเจ็บปวดแสนสาหัส แต่ก็ทำให้ยิ่งรักลูกมากขึ้นอีกทุกครั้งที่นึกถึง เพราะไม่ใช่เพียงเราเจ็บคนเดียว แต่ลูกน้อยก็ผ่านกระบวนการต่อสู้นั้นมาด้วยกัน ผู้เขียนยังจำภาพแสงแดดยามเช้าที่ส่องลอดผ้าม่านเข้ามาในห้อง ลูกน้อยตัวอุ่นๆ นอนแนบอยู่กับอก มีคุณสามี มิดไวฟ์ ดูล่า และพยาบาลนั่งล้อมเรา (ผู้เขียนลองทุกอุปกรณ์ สุดท้ายก็นอนคลอดกับพื้น 🙂 รอยยิ้มอ่อนโยนบนใบหน้าของทุกคนเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนจะไม่มีวันลืมเลย

 

ฟังดูแล้วอาจจะนึกว่าที่อเมริกาคงคลอดแบบนี้กันหมด เปล่าเลยค่ะ ทุกวันนี้อัตราการคลอดกับ midwife ของอเมริกามีเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศในยุโรป ผู้ที่ทำให้ความเคลื่อนไหวเรื่องการคลอดธรรมชาติและ midwife ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาคือ Ina May Gaskin ผู้ก่อตั้งชุมชนอิสระชื่อ The Farm ร่วมกับสามีที่รัฐเทนเนสซี่ ด้วยความจำเป็นเธอจึงต้องฝึกหัดทำคลอดให้กับผู้หญิงในชุมชนนั้น จนต่อมาตั้งเป็น The Farm Midwifery Center ซึ่งเป็นศูนย์คลอดนอกโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ในอเมริกา ไอน่าเมย์เขียนหนังสือเล่มสำคัญชื่อ Spiritual Midwifery ซึ่งเปรียบเสมือนคัมภีร์สำหรับมิดไวฟ์รุ่นต่อๆ มา และเป็นแรงบันดาลใจให้พิธีกรรายการทอล์คโชว์คนดัง Ricki Lake หันมาสนใจการคลอดธรรมชาติด้วยตนเอง และถ่ายทำเป็นสารคดีชื่อ The Business of Being Born ซึ่งเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้อเมริกันชนได้เห็นถึงความสำคัญของการคลอดธรรมชาติกับมิดไวฟ์ รวมถึงผลร้ายของการแทรกแซงทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นด้วย

 

จะว่าไปแล้วการคลอดที่บ้านหรือหมอตำแยไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสมัยก่อนนี้ใครๆ ก็คลอดลูกที่บ้านด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่เมื่อวิทยาการก้าวหน้าขึ้น การไปคลอดที่โรงพยาบาลก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าช่วยให้แม่และเด็กปลอดภัยขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก แต่ก็มีความเสี่ยงและความไม่จำเป็นใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ในเมื่อตอนนี้เรามีความรู้ มีการสื่อสาร และมีการเดินทางที่สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่แน่… การคลอดที่บ้านและ midwife อาจจะกลับมา และคำว่าคลอดทางเลือกที่ผู้เขียนจั่วหัวไว้ อาจจะกลายเป็นคลอดทางหลักก็ได้ในอนาคต

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up