การฝากไข่

ข้อดีของ การฝากไข่ เพื่อผู้หญิงที่อยากมีลูกในอนาคต

Alternative Textaccount_circle
event
การฝากไข่
การฝากไข่

ข้อดี ข้อเสียของการฝากไข่

ข้อดีของการฝากไข่

เป็นการเตรียมตัวเพื่อคุณภาพของไข่และตัวอ่อนที่ดีขึ้น อาจช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ และอาจลดความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมที่ผิดปกติของตัวอ่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีเนื้องอก หรือถุงน้ำที่รังไข่ ช็อคโกแลตซีสต์ ซึ่งเมื่อโรคลุกลามขึ้นในอนาคตรังไข่อาจถูกทำลายจนด้อยคุณภาพในการผลิตไข่ที่ดี ยิ่งถ้าเกิดเป็นมะเร็งรังไข่ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออก ฉายรังสี หรือใช้เคมีบำบัด เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายรังไข่โดยสิ้นเชิง การฝากไข่ไว้ก่อน ย่อมช่วยให้ผู้ป่วยมีลูกได้ด้วยพันธุกรรมของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีค่ะ

 

ข้อเสียของการฝากไข่

ข้อเสียคืออาจจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากวิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง รวมถึงต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยากระตุ้นไข่ และการดมยาโดยไม่จำเป็น ส่วนไข่ที่ยังแช่แข็งไว้ก็ยังไม่มีการยืนยันว่าหลังจากละลายออกมาใช้ในอนาคตแล้ว จะยังคงมีคุณภาพเท่าเดิมหรือไม่ ยิ่งถ้าในอนาคตหากไม่ได้แต่งงาน หรือคู่สมรสมีปัญหาเรื่องคุณภาพอสุจิที่ไม่ดีด้วย ก็อาจส่งผลกระทบให้ตัวอ่อนไม่ดีพอที่จะตั้งครรภ์ได้

 

ประสิทธิผลของการฝากไข่

คุณภาพไข่ขึ้นอยู่กับอายุเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อฝากไข่เร็ว ตั้งแต่ตอนอายุน้อยก็มีประโยชน์มากกว่า เพราะเมื่อเก็บตอนอายุน้อยไข่ก็จะมีคุณภาพดีกว่า เช่น แช่แข็งไข่จำนวน 10 ใบ โอกาสที่ไข่จะรอดชีวิตทั้ง 10 ใบ คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งปกติอาจจะรอดชีวิตที่ 8 หรือ 7 ใบ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพไข่ก่อนการแช่แข็งด้วย แต่หลังจากไข่รอดชีวิตแล้ว จะมีการผสมกับอสุจิด้วยวิธีการทำอิ๊กซี่ โดยโอกาสในการปฎิสนธิก็ไม่ได้แตกต่างจากการที่เราทำกับไข่สด คุณภาพยังเหมือนเดิม และเด็กที่เกิดจากการแช่แข็งไข่ ก็ไม่ได้มีความผิดปกติแตกต่างไปจากการทำเด็กหลอดแก้วปกติแต่อย่างใด

 

ไข่ที่ฝากไว้ สามารถเก็บไว้ได้นานกี่ปี

ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าเก็บรักษาไข่ไว้นานแค่ไหนแล้วยังสามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ เพราะข้อมูลล่าสุดมีเพียงรายงานของการเก็บแช่แข็งประมาณ 4-5 ปี และละลายออกมาใช้โดยมีการผสมกับอสุจิ ได้ตัวอ่อนฝังกลับเข้าไปในโพรงมดลูก และเกิดการตั้งครรภ์ คลอดบุตรได้ตามปกติ

 

การฝากไข่ มีผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนหรือไม่?

การกระตุ้นไข่ ก็ย่อมมีความเสี่ยง เพราะได้รับฮอร์โมน บางครั้งอาจเกิดภาวะรังไข่ตอบสนองฮอร์โมนมากเกินไป นอกจากนั้นแล้วยังมีความเสี่ยงในการเก็บเจาะไข่ ทำให้เลือดออก แต่ทุกอย่างทุกขั้นตอนต้องมีการทำอย่างระมัดระวัง เพื่ออกาสที่เกิดจะเกิดความเสี่ยงจะได้น้อยลง

 

การฝากไข่ มีข้อจำกัดทางกฎหมาย

ก่อนที่จะไปทำการฝากไข่ ควรรู้ข้อจำกัดทางกฎหมายด้วย ซึ่งกฎหมายในประเทศไทยอนุญาตให้ทำได้ใน 2 กรณี คือ

  1. การฝากไข่ไว้ใช้กับตัวเองได้เท่านั้น

กฎหมายเมืองไทยอนุญาตให้ผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคแต่ต้องการเก็บไข่ไว้ได้ แต่ต้องเก็บไว้เพื่อใช้ในอนาคตกับตัวเองเท่านั้น คือ ไข่ที่ตัวเองเก็บไว้จะใช้ได้เฉพาะกับเจ้าของไข่ ไม่สามารถนำไปใช้กับคนอื่นได้ โดยเมื่อต้องการนำไข่ที่เก็บหรือฝากไว้มาใช้ ผู้หญิงคนนั้นจะต้องแต่งงานมีครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะนำไข่ที่แช่แข็งมาละลายเพื่อผสมกับอสุจิจากสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพราะกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้เก็บไข่ตัวเองเพื่อนำไปในการอื่นๆ เช่น บริจาคให้ญาติพี่น้องที่มีลูกไม่ได้

  1. การฝากไข่ล่วงหน้าได้ในกรณีที่ป่วยเป็นโรค

การรักษาโรคบางอย่าง อาจส่งผลกระทบต่อตัวรังไข่ เช่น ในผู้หญิงบางคนที่เป็นโรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และจำเป็นต้องให้ยาในการรักษา ซึ่งยาที่รักษาโรคทั้งสองกลุ่มนี้ บางชนิดส่งผลทำลายรังไข่ได้ การรักษาจะได้รับยาที่มีผลกระทบต่อรังไข่ จนทำให้รังไข่เสี่ยงถูกทำลาย หรือร่างกายผลิตไข่ไม่ได้อีกเลย กลุ่มนี้เมื่อต้องการเป็นแม่ก็จะมีลูกไม่ได้  ดังนั้น การเก็บไข่ตัวเองไว้ก่อนทำการรักษาโรค จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียโอกาสในการมีลูก และคุณหมอก็จะให้ยาในการรักษาได้เต็มที่ให้โรคหายขาด โดยไม่กังวล เพราะได้เก็บไข่ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก รพ.พญาไท

 

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

แม่ท้องระวัง ไข้มาลาเรีย เป็นแล้วอันตรายถึงชีวิตทั้งแม่และลูก

ฝากไข่ ไว้มีลูกในอนาคต …เรื่องฮิตที่ผู้หญิงยุคใหม่ควรรู้

ฝากไข่ เรื่องฮิตที่คุณแม่ยุคใหม่ควรรู้ ตอน 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up