เมื่อลูกตื่นเวที

Alternative Textaccount_circle
event

“แม่หนู  มาเร็วๆ เข้า  ข้าไม่ทำอะไรเจ้าหรอก” แต่เพื่อนขี้อายวัย 6 ขวบกลับไม่ยอมขยับจากตำแหน่งที่หลบอยู่  ขณะที่เพื่อนๆยิ้มแย้มแจ่มใสและเริงระบำอยู่บนเวที น้องหนิงกลับได้แต่ยืนตัวแข็งทื่อเพราะทำอะไรไม่ถูก แถมยังทำหน้าเหยเกเหมือนกำลังทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

 

เราเรียกอาการแบบนี้ว่า ตื่นเวที ซึ่งอาจเป็นความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นเฉพาะในการแสดงรอบปฐมทัศน์  หรือความตื่นเต้นธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็ได้ อาการที่ว่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ  เพราะนักแสดงมืออาชีพบางคนก็ยังตื่นเต้นเป็นกังวล  แม้จะเคยมีประสบการณ์มาแล้วอย่างโชกโชน  คุณอาจช่วยให้แด๊นเซอร์ตัวน้อยๆ หรือนักเปียโนรุ่นจิ๋วรับมือกับความประหม่าและรู้สึกสนุกกับการแสดงความสามารถบนเวทีได้โดย

 

  • ถามความสมัครใจของลูกก่อน  เด็กบางคนชอบเรียนดนตรี  บัลเลต์  หรือคอร์สอื่นๆ เพียงเพราะมีความสนใจ ไม่ใช่เพราะอยากแสดงความสามารถพิเศษต่อหน้าสาธารณชน  และไม่มีกฎข้อใดที่ระบุว่าเด็กทุกคนจะต้องเคยเปิดการแสดงเดี่ยว  เพราะฉะนั้นถ้าลูกไม่ชอบก็อย่าไปฝืนใจเขาเลยจะดีกว่า

 

  • ช่วยฝึกซ้อม  แต่อย่าบังคับลูกจนเกินไป  คุณคงไม่อาจรับประกันได้ว่าการฝึกซ้อมจะทำให้ลูกสามารถแสดงจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ  แต่อย่างน้อยลูกก็จะรู้สึกชินและแสดงได้คล่องขึ้น  คุณจึงควรช่วยลูกเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมสำหรับ ของจริง แต่ให้เขาฝึกซ้อมในบรรยากาศที่ปราศจากความกดดัน เช่น  เกณฑ์พี่ตุ๊กตาหมีมาเป็นผู้ชมแทนคนจริงๆ

 

  • ชมเชยลูก  ปล่อยให้การวิพากษ์-วิจารณ์เป็นหน้าที่ของคุณครูที่โรงเรียน เพราะการให้กำลังใจเมื่อลูกฝึกซ้อมอยู่ที่บ้านจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเขาเมื่อถึงคราวที่ต้องแสดงจริง

 

  • คุยกับลูกอย่างจริงจัง  ถ้าแม่หนูบอกว่าไม่อยากแสดงเพราะกลัวจะจำบทไม่ได้  คุณก็ไม่ควรบอกลูกแต่เพียงว่า แต่แม่ว่าหนูต้องจำได้แน่ๆ !แต่ควรพูดว่า ถ้าเป็นแม่  แม่ก็คงจะกลัวเหมือนหนูนั่นแหละ  แต่หนูก็ขยันท่องบทออกอย่างนี้  คงไม่มีอะไรผิดพลาดหรอกจ้ะ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  แม่ก็ยังภูมิใจในตัวหนูอยู่ดีนะจ๊ะลูก

 

บทความและภาพโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up