ตอบปัญหา “เจ้าช่างซัก”

Alternative Textaccount_circle
event

สำหรับแม่ที่มีลูกวัยเรียนอนุบาล บางทีการพูดคุยก็กลายเป็นรายการ 20 คำถามได้ง่ายๆ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมล่ะคะ

“แค่ 5 นาที ลูกป้อนคำถามได้ตั้ง 3 เรื่องเลยละค่ะ ‘ทำไมยาต้องขม’ ‘ฝนตกร้อยละ 60 หมายความว่ายังไง’ ‘ทำไมแอ๊ปเปิ้ลถึงมีสีเขียวกับสีแดงล่ะคะ’ เล่นเอาพ่อแม่ตอบแทบไม่ทัน”

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นพรสวรรค์ที่ธรรมชาติมอบให้เด็กๆ ทุกคน แต่สำหรับเด็กวัยเรียนที่ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ พวกแกก็ดูวุ่นวายอยู่ไม่น้อย เจน เบอร์แมน ผู้เขียน “The A to Z Guide to Raising Happy, Confident Kids” อธิบายว่า เด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้การสื่อสารด้วยบทสนทนา “พวกแกเพิ่งก้าวผ่านวัยหัดพูด ซึ่งเป็นช่วงที่สื่อสารกับคนอื่นได้อย่างติดๆ ขัดๆ ตอนนี้เมื่อสามารถพูดอะไรได้อย่างที่ใจคิด ก็เลยปล่อยมันออกมาหมด”

โดยสรุป สำหรับพวกหนูๆ การพูดอะไรออกไปตามใจคิดถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากรับมือแบบไม่วุ่นวายก็คงต้องมีเทคนิคพิเศษ

เทคนิครับมือมรสุมคำถาม

1. ชี้ให้ลูกสังเกต

ถ้าคุณกับลูกกำลังคุยกัน แล้วอยู่ๆ แม่หนูก็เริ่มป้อนคำถามที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่คุยเข้ามา รีบบอกให้แกรู้ตัว เด็กๆ จะได้รู้ว่า พวกแกมีผู้ฟัง และต้องสานต่อให้คู่สนทนาตามเรื่องทันด้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมแก้ความสงสัยในหัวข้อใหม่ “ตอนนี้คุยเรื่องการบ้านวิทยาศาสตร์ของหนูให้จบก่อน แล้วเดี๋ยวเราค่อยคุยเรื่องไดโนเสาร์กันนะจ๊ะ”

2. ปล่อยให้ลูกได้ถามตามใจชอบ (บ้าง)

ความใจเร็วเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ ถ้าหากบทสนทนาที่คุยอยู่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ลองปล่อยให้แกถามอะไรตามใจชอบบ้าง ตอบคำถามที่ตอบได้ และเก็บคำถามยากๆ เอาไว้เป็นหัวข้อสนทนาครั้งต่อไป วิธีนี้จะทำให้คุณมองออกว่า ตอนนี้ลูกกำลังสนใจอะไรเป็นพิเศษ

3. สำรวจพฤติกรรม

มรสุมคำถามอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าคุณสังเกตว่า ลูกไม่สามารถจดจ่ออยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือบทสนทนาเรื่องเดียวได้เลยสักครั้ง นี่อาจเป็นสัญญาณของอาการบกพร่องด้านการเรียน (Learning Disability: LD) ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์นะคะ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up