3 วิธีแก้ลูกเตาะแตะติดนมมื้อดึก

Alternative Textaccount_circle
event

Q: ลูกอายุขวบกว่าแล้ว แต่ยังร้องกินนมมื้อดึกคืนละประมาณ 2-3 ครั้ง ให้ดูดน้ำก็ไม่ยอม ถ้าไม่ได้นมจะแผลงฤทธิ์แบบไม่ฟังอะไรเลย กลัวว่าอาจมีผลต่อพัฒนาการ หรือกลายเป็นเด็กอารมณ์ร้ายเมื่อโตขึ้น ควรทำอย่างไรดี

คำแนะนำจากคุณหมอ : สำหรับเด็กอายุวัย 1 ขวบขึ้นไปแล้ว ควรได้รับการฝึกให้นอนหลับยาวโดยไม่ตื่นขึ้นมาดูดนมกลางดึก เพราะการกินนมตอนกลางคืนจะทำให้ฟันผุง่าย (คราบนมตกค้างในปากจะถูกแบคทีเรียในปากย่อยจนเกิดสารที่ทำให้ฟันผุกร่อน) และเด็กวัยนี้ก็มีฟันขึ้นหลายซี่แล้ว (อ่านต่อ >> ฝึกลูก ” เลิกขวดนม ” ง่ายๆ ภายใน 1 ขวบ!! ป้องกันฟันผุ คลิก!!)

นอกจากนี้นมส่วนเกินยังทำให้เป็นโรคอ้วน และเป็นการสร้างทัศนคติเกี่ยวกับการกินแบบผิดๆ คือ ไม่ใช่กินเพื่อดำรงชีวิต แต่เพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ (สุขก็กิน ทุกข์ก็กิน จนอ้‰วน) และยังเป็นเหตุที่ทำให้ลูกต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อรองรับปัสสาวะจำนวนมากเพราะไม่อาจกลั้นฉี่ได้จนถึงเช้า หรือต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำคืนละหลายๆ ครั้ง ทำให้การนอนของลูกและคุณถูกรบกวนโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น หากลูกกินข้าวและนมในปริมาณที่เหมาะสมแล้วในช่วงระหว่างวัน การที่ลูกตื่นตอนกลางคืนแล้วเรียกหานม ก็ไม่ได้แสดงว่าเขาหิว แต่เป็นเพราะเคยชินกับการดูดนมเพื่อกล่อมให้หลับ และไม่เคยถูกฝึกให้หลับด้วยตัวเอง แต่คุณแม่ยังไม่ต้องท้อใจ เพราะเราฝึกลูกได้หลายวิธีค่ะ

1. บางคนเพียงต้องการดูดเพื่อให้หลับ

คุณแม่อาจลองให้ดูดจุกหลอกหรือดูดน้ำเปล่าแทน เพื่อลดโอกาสเกิดฟันผุ

2. ถ้าลูกไม่ยอมดูดน้ำเปล่า

คุณแม่อาจลองใช้วิธีชงนมให้เจือจางลงเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่านมไม่อร่อยเท่าเดิม

3. ปล่อยให้ลูกร้องไปเลยค่ะ!

แต่ต้องอธิบายให้คนที่บ้านเข้าใจว่ากำลังฝึกหย่านมมื้อดึกอยู่ รับรองว่าเขาจะไม่ป่วยเพราะร้องไห้มากๆ และนานๆ แน่นอนโดยทั่วไปคืนแรกอาจร้องนาน 1 – 2 ชั่วโมงจนเหนื่อยแล้วหลับไปเอง แต่จะลดลงเรื่อยๆ และไม่ตื่นอีกภายใน 1 – 2 สัปดาห์ คุณแม่อาจอุ้ม ตบก้นเบาๆ หรือร้องเพลงกล่อมได้ แต่ไม่ต้องให้นม ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำว่าน่าจะถือโอกาสแยกห้องในช่วงนี้ไปเลย โดยคุณแม่อาจใช้วิธีเดินเข้าไปหาเป็นพักๆ เพื่อดูว่าเขายังปกติดีหรือเปล่า

ทุกครั้งที่ลูกร้อง ให้วางลงเตียงขณะสะลึมสะลือแล้วบอกว่า “นอนซะลูก พรุ่งนี้เจอกันใหม่” แล้วออกไปจากห้อง ถ้าลูกยังร้องอีกก็ให้ยืดระยะเวลาในการกลับเข้าไปดูให้ห่างขึ้นและใช้เวลาอยู่ในห้องกับเขาน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ต้องห่วงว่าลูกจะมีปัญหาด้านอารมณ์ เพราะช่วงกลางวันคุณแม่ก็ให้ความรักความเอาใจใส่แก่ลูกได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up