โรคฮอตฮิตควรระวัง ช่วงหน้าฝน

Alternative Textaccount_circle
event

Q: ช่วงนี้เข้าฤดูฝนแล้ว ลูกก็เปิดเทอมแล้วด้วย ควรป้องกันหรือรับมือกับโรคต่างๆ อย่างไรดี ทั้งโรคที่มากับฝนและน้ำท่วม

1. โรคหวัด

โรคที่พบบ่อยในฤดูฝนอันดับหนึ่งเลยคือโรคหวัด มีทั้งไข้หวัดเล็กและไข้หวัดใหญ่ สาเหตุคือ ลูกติดเชื้อซึ่งแพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือสัมผัสโรคจากผู้อื่น ทางตรงคือ การไอจามรดกัน หรือสัมผัสมือ ตา จมูก ปาก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ ส่วนทางอ้อมคือ จับของเล่นหรือของใช้ที่มีเชื้ออยู่ แล้วเอามือเข้าปากโดยไม่ล้างมือก่อน

การป้องกันการติดเชื้อหวัดทำได้ง่ายๆ โดย

  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ คุณหมอทั้งหลายที่ไม่ติดเชื้อหวัดจากคนไข้ เพราะพอตรวจโรคเสร็จแล้วต้องล้างมือทุกครั้งค่ะ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศไม่ถ่ายเท
  • หากจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรค ควรใส่ผ้าปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าร่างกาย (คล้ายกับตอนที่กลัวไข้หวัดซาร์สทุกคนใส่ผ้าปิดไว้ ช่วยลดการเป็นหวัดสายพันธุ์อื่นไปด้วยในตัว)
  • ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
  • ให้ลูกรับประทานผักและผลไม้เยอะๆ จะได้เพิ่มวิตามินซี ช่วยไม่ให้เป็นหวัดง่าย
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และเชื้อหวัดบางสายพันธุ์ (Strep. Pneumo) ซึ่งการได้รับวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงได้ไม่มากก็น้อย

2. ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกก็มักระบาดในช่วงฤดูฝนเช่นกัน เพราะมีฝนที่ตกลงมาขังตามแหล่งต่างๆ เช่น โอ่ง อ่าง กระถางแตก และยางรถยนต์ ทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การป้องกันทำได้โดย

  • การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • ระวังอย่าให้ถูกยุงกัด เช่น ใช้มุ้งครอบ ใส่เสื้อผ้าปกปิด และใช้โลชั่นทากันยุง เป็นต้น

3. โรคฉี่หนู

โรคที่มากับน้ำท่วม ถ้าเดินลุยน้ำที่มีเชื้อไข้ฉี่หนูหรือเล็ปโตสไปโรซิส เชื้อโรคจะเข้าไปตามบาดแผลที่สัมผัสกับน้ำ ทำให้มีอาการไข้สูง ปวดหลัง ปวดน่อง ตัวเหลือง และไตวาย ป้องกันได้ด้วยการไม่เดินย่ำน้ำหรือใส่รองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ

4. โรคน้ำกัดเท้าหรือเชื้อราที่เท้า

เกิดจากเท้าเปียกชื้นตลอดเวลา ป้องกันได้ด้วยการไม่เดินย่ำน้ำหรือใส่รองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ

 

นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่มากับอุจจาระ และมีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม ทำให้เกิดโรคท้องร่วง ตับอักเสบเอ หรือไทฟอยด์ ซึ่งป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ต้มสุกเท่านั้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำแข็งที่ไม่ได้ทำจากน้ำต้มหรือน้ำที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up