เคล็ด(ไม่) ลับ สำหรับลูกกินน้อย

Alternative Textaccount_circle
event

ลูกวัยสองขวบ หากเป็นเด็กชายควรมีน้ำหนักตัว 10 – 15 กิโลกรัม และหากเป็นเด็กหญิงควรมีน้ำหนักตัว 9.5 – 14.5 กิโลกรัม ถ้าลูกมีน้ำหนักอยู่ในช่วงดังกล่าว มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยบ่อย มีพัฒนาการสมวัย และเป็นเด็กที่กินแต่อาหารมีประโยชน์ คืออาหารหลัก 5 หมู่ กินข้าว 3 มื้อ มื้อละ 4 – 5 ช้อนโต๊ะ นม 2 – 3 กล่อง กินผลไม้เป็นอาหารว่าง ไม่กินขนมหวานเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ได้เป็นเด็กอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากเพราะอาหารประเภทจั๊งค์ฟู้ดหรืออาหารขยะ หรือเป็นเด็กที่น้ำหนักตัวขึ้นเพราะกินนมรสหวานบางยี่ห้อ ถึงจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ค่าต่ำสุดของช่วงดังกล่าวก็ถือว่าเป็นปกติค่ะ

 
ผลการวิจัยระบุว่า เด็กที่ดูอ้วนตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นจะมีโอกาสเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน หรือบางคนตอนเด็กมีรูปร่างผอม แต่ถูกเลี้ยงดูให้มีวินัยเรื่องการกินที่ไม่ดี อนุญาตให้กินขนมหวานอย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายในการทำน้ำหนักเพียงอย่างเดียว ชมเชยว่าเก่งเมื่อลูกกินได้มากๆ ทำให้เขามีนิสัยการกินที่ไม่ดีติดตัวไปจนโต เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ตามมา

 
เด็กวัยสองขวบต้องการแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับนม 3 แก้ว หรือน้อยกว่านั้นหากได้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างอื่นด้วย ปริมาณนมวัวไม่ควรมากเกินไป เด็กบางคนได้รับนมมากเกินไปโดยเชื่อว่ายิ่งกินนมมากยิ่งตัวสูง แต่ความเป็นจริงคือจะได้รับไขมันเข้าไปมากจนเป็นโรคอ้วน หรือมีไขมันสะสมในเส้นเลือดตั้งแต่เด็ก หากกินนมรสหวานก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้น ขณะที่ปริมาณแคลเซียมที่มากเกินความต้องการของร่างกายจะถูกขับออกไปอยู่ดี

 
ในอดีตชาวตะวันตกที่ดื่มนมวัว กินชีสและเนยมากกว่าชาวเอเชียมีโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่าชาวเอเชียซึ่งดื่มนมวัวน้อยกว่า แต่กินถั่วเหลืองและเต้าหู้ที่มีแคลเซียมสูงเช่นกันแต่มีไขมันต่ำ กลับพบว่ามีปัญหากระดูกพรุนน้อยกว่าชาวตะวันตก แสดงว่าแคลเซียมจากถั่วเหลืองไปสะสมที่กระดูกได้ดีเช่นกันหรือดีกว่า ดังนั้น การที่ชาวตะวันตกตัวสูงใหญ่ไม่ได้เป็นเพราะดื่มนมวัวมากกว่า แต่เป็นเพราะความแตกต่างของเผ่าพันธุ์

 
เด็กที่ขาดสารอาหารเพราะยากจน หรือเลือกกินอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เช่น ขาดธาตุเหล็กและไอโอดีนซึ่งเป็นสารที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมอง ถึงแม้จะมีน้ำหนักตัวดี แต่ก็อาจทำให้มีพัฒนาการที่ผิดปกติได้ ขณะที่บางคนมีกระเพาะเล็ก เป็นคนกินได้น้อยเพราะพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด แต่ได้รับอาหารที่ดี มีประโยชน์ถึงจะเป็นคนผอมหรือตัวเล็ก แต่ก็จะมีพัฒนาการที่เป็นปกติแน่นอน

 
ลูกของคุณแม่กินข้าว 5 คำ ถือว่าน้อยเกินไป แต่ไม่ได้บอกว่าดื่มนมวันละกี่กล่อง หากดื่มวันละ 2 – 3 กล่องอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเพิ่มนม แต่เน้นให้กินอาหารมากขึ้น หากมีกินขนมจุบจิบหรือดื่มน้ำผลไม้ ให้หยุดค่ะ เพราะน้ำตาลปริมาณมากๆ ในร่างกายจะทำให้ลูกไม่รู้สึกหิว ต้องอดทนต่อเสียงเรียกร้องจะกินแต่ของชอบของลูกให้ได้ ปล่อยให้หิวจนถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป เขาจะได้กินข้าวมากขึ้น

 
แต่อย่าคาดหวังว่าลูกจะกินได้มากขึ้นภายใน 2 วัน เพราะอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ถ้าน้ำหนักลดลงบ้างในช่วงแรกก็ไม่ต้องตกใจค่ะ ลองเปลี่ยนเมนูเป็นอาหารคล้ายของผู้ใหญ่ เพราะลูกอาจเบื่ออาหารเด็กเล็ก ลองให้กินเอง ยอมให้สกปรกเลอะเทอะบ้าง ลองใช้จานชามช้อนส้อมที่น่าสนใจหรือใช้มือป้อนอาหารก็ได้ทำบรรยากาศในขณะกินให้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดหรืออ้อนวอนให้กิน จำกัดเวลากินไม่เกิน 45 นาที ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ให้ลูกได้ออกกำลังมากขึ้น บางคนขาดธาตุเหล็กและวิตามินบางตัวอยู่แล้ว เลยทำให้ยิ่งเบื่ออาหาร การให้วิตามินและธาตุเหล็กทดแทนจะทำให้กินได้ดีขึ้น

 
คุณแม่ลองทำดูนะคะ หากลูกกินได้ในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมแล้ว แต่น้ำหนักตัวยังน้อยอยู่ ก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป คิดเสียว่าโตขึ้นมาจะได้ไม่เป็นคนที่อ้วนง่าย ดีออกค่ะ

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up