วิธีดูแลเจ้าหนูเลือกกิน

Alternative Textaccount_circle
event

Q. ลูกชายวัย 2 ขวบ 5 เดือนมีปัญหาเลือกกินอาหาร ทุกวันนี้ยอมกินแต่นมกับโจ๊กฟักทองใส่ไข่เท่านั้น ส่วนอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ (ไก่ ปลา หรือหมู) ผักใบเขียว มะกะโรนี แครอท หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยว ลูกไม่ยอมกินเลย บอกว่าเหม็นค่ะ มีวิธีแก้ไขอาการเลือกกินนี้บ้างไหมคะ

คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน เช่น บางคนชอบหน้าร้อน จะได้ไปทะเล ถ้าร้อนมากก็อาศัยเปิดแอร์ แต่บางคนชอบหน้าหนาว เพราะเหงื่อไม่ออก ไม่ชอบเหนอะหนะ ดังนั้นเรื่องกินก็เช่นเดียวกัน มีเด็กชอบกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มีเด็กเกลียดผัก กินเนื้อสัตว์ได้ และมีเด็กที่เลือกมาก ไม่กินอะไรสักอย่าง หมอขอตอบเป็นประเด็นกว้างๆ เผื่อเด็กที่มีความชอบและไม่ชอบแตกต่างไปจากเจ้าของ

คำถามนะคะ

ประเด็นไม่กินเนื้อสัตว์เลย ไม่ต้องกังวลค่ะ ความจริงคือเราไม่จำเป็นต้องได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีคนกินมังสวิรัติมากมายบนโลกใบนี้ และงานวิจัยพบว่าอาหารสุขภาพ คืออาหารที่เน้นพืชผัก ธัญญาหาร ถั่วเมล็ดแห้ง และผลไม้สด เราพบว่าเด็กที่กินมังสวิรัติมีสุขภาพดีกว่า พบปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมะเร็งน้อยกว่าเด็กที่ชอบกินเนื้อสัตว์ การกินอาหารที่มีถั่วฝัก ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ สาหร่าย ธัญญาหาร เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ลูกเดือย เห็ด และผักผลไม้ชนิดต่างๆ เด็กก็สามารถได้โปรตีน เส้นใยอาหารที่มีคุณค่า และสารอาหารที่จำเป็นเกือบทุกชนิดจากอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ ขาดเพียงแต่วิตามินบี 12 เท่านั้น จึงควรเสริมวิตามินรวมให้กินทุกวัน ในกรณีที่เป็นมังสวิรัติ 100 เปอร์เซ็นต์ (แต่ลูกคุณแม่ยอมกินไข่ จะไม่ขาดวิตามินบี 12) คุณแม่ลองทำอาหารประเภทนี้ให้ลูกกินดูว่าชอบหรือไม่ ถ้าชอบก็โชคดีเลยค่ะ เพราะเป็นอาหารสุขภาพจริงๆ มีผลดีต่อสุขภาพของลูกระยะยาวแน่นอน

ประเด็นไม่กินผักใบสีเขียว เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง กะหล่ำปลี และผักใบสีเขียวทุกชนิด ผักเหล่านี้มีแคลเซียมจำนวนมาก ธาตุเหล็ก และวิตามินหลายชนิด หากลูกไม่ยอมกินผักใบเขียว แก้ไขโดยการให้วิตามินรวมที่มีธาตุเหล็ก และประเมินดูว่าได้รับแคลเซียมจากอาหารประเภทอื่นเพียงพอแล้วหรือยัง เช่น งาดำ นม ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง ถ้ายังไม่พอให้เสริมเป็นแคลเซียมเม็ดไปก่อน

ประเด็นไม่ยอมกินผักอื่นๆ ในแต่ละมื้ออาหารควรมีเมนูที่เป็นผักอยู่ประมาณ 25 – 30 เปอร์เซ็นต์ ผักที่ใช้ควรเลือกชนิดสดใหม่ เพื่อให้ได้วิตามินมากที่สุด และรสชาติดี ถ้าเป็นผักออร์แกนิกหรือผักปลอดสารพิษจะดีไม่น้อย การปรุงผักอย่างถูกต้องจะช่วยรักษาคุณค่าของอาหารและทำให้เด็กกินผักได้มากขึ้น ควรใช้ผักมากกว่า 1 อย่างในแต่ละมื้อ เลือกชนิดที่เด็กชอบ ไม่ควรใช้วิธีบังคับ แต่ให้ใช้วิธีเปลี่ยนชนิดผักหลายๆ ครั้งเข้า เด็กอาจอยากลองในวันใดวันหนึ่ง

ส่วนน้ำผักคั้นสดๆ ที่ขายกันตามซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องระวังเรื่องสารเคมีตกค้างและความสะอาด เพราะอาจไม่ได้ล้างสะอาดเพียงพอ รวมถึงมือของผู้ผลิตอาจไม่สะอาดก่อนจะมาจับผักผลไม้ หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรทำเองที่บ้าน โดยซื้อหนังสือสูตรทำน้ำผักผลไม้ แล้วทำกันสดๆ ให้ลูกกินทุกวัน หากเป็นแบบปั่นหรือสมู้ตที จะมีประโยชน์กว่าแบบคั้นแยกกาก เพราะลูกจะได้เส้นใยจากผักผลไม้ด้วย

หาสูตรวิธีทำผักเป็นอาหารอย่างไรให้ลูกชอบกิน เริ่มจากผักที่กินง่ายๆ ไม่เหม็นเขียว เช่น เอามาปั่นให้ละเอียดคลุกกับเนื้อสัตว์แล้วทอด หรือยัดไส้แตงกวาทำน้ำแกงจืด หรือนึ่งผักแล้วหั่นหรือกดพิมพ์เป็นรูปทรงน่ารัก กินเปล่าๆ เป็นอาหารว่างหรือจิ้มกับซอสสุขภาพ (ทำจากผลไม้ไม่เติมเกลือและน้ำตาลมากเกินไป) อ่านหนังสือที่สอนเกี่ยวกับการกินผักให้ลูกฟัง ตั้งชื่อผักเป็นตัวการ์ตูนที่ลูกชอบ ฝากคุณครูหรือคุณหมอช่วยพูดให้ลูกกินผัก ที่สำคัญคือ คุณควรกินให้ลูกดูเป็นแบบอย่าง ในช่วงที่กำลังฝึกกินผัก แต่ยังได้ไม่มาก ให้เสริมวิตามินรวมกินทุกวัน

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up