ขู่ลูก

ไม่ต้อง “ขู่” หนูก็เชื่อฟังแม่ ด้วย 4 วิธีทำได้ง่ายๆ

event
ขู่ลูก
ขู่ลูก

Q : ลูกชายวัย 2 ขวบครึ่ง แม่พูด บอก ห้ามอะไรก็ไม่ค่อยฟัง ต้องงัดสิ่งที่เขากลัวขึ้นมาขู่จึงจะยอมเชื่อ เช่น เดี๋ยวเรียกเสือมานะ เรียกหมามากัดนะ แต่คุณแม่ก็กังวลว่าจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม จะมีวิธีอะไรดีกว่านี้ในการห้ามปรามลูกไหมคะ

 

ขู่ลูกให้กลัว “เดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับ” “เดี๋ยวผีมาเอาไปนะ” “เดี๋ยวให้หมอจับฉีดยาเลย” เป็นหนึ่งในหลายประโยคคลาสสิค ที่หมอเชื่อว่าคุณพ่อคุณเคยได้ยินหรือเคยใช้มาบ้าง บางคนก็อาจมีประสบการณ์โดนขู่มาเหมือนกัน

พบ 4 วิธีพูดที่ดี ไม่ต้อง ขู่ลูก ช่วยปรับพฤติกรรมลูกได้

 

ข้อดีของการขู่ คือ เมื่อเด็กกลัว เด็กก็จะหยุดทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นๆ และยอมทำตามแต่โดยดี  ผู้ใหญ่จึงติดใจ ใช้วิธีนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ทราบไหมคะว่าการขู่นั้นมีผลกระทบต่อเด็กๆ อย่างไร?

ขู่ลูก ให้กลัวผี, งู, ตุ๊กแก (+ สารพัดสัตว์) = ทำให้เด็กกลัวกลางคืน

“ขู่” หมายถึง ทำให้เกรงกลัว  เมื่อเราพูดเด็กจะรู้สึกกลัวสิ่งที่เรานำมาขู่ ซึ่งถ้าโดนเรื่อยๆ ก็จะกลัวมากขึ้น มากขึ้น จนอาจส่งผลให้บางคนอยู่คนเดียวตอนกลางคืนไม่ได้ (เพราะกลัวผีมาเอาไป)  กลัวสัตว์เลื้อยคลานแบบเอาเป็นเอาตาย แค่เห็นก็อาจตื่นตระหนกจนคุมตัวเองไม่อยู่ (เพราะกลัวมันมากินตับ)

ขู่ลูก ให้กลัวหมอ = ทำให้เด็กเกลียดการรักษา

บางคนชอบขู่ว่าจะพาไปให้หมอฉีดยา เด็กจะติดใจกลัวหมออย่างมาก เมื่อไม่สบายต้องไปหาหมอ เด็กก็จะไม่ยอมเข้าห้องตรวจ ไม่ร่วมมือในการรักษา (เพราะกลัวหมอฉีดยา…แหะๆ อันนี้แม้แต่จิตแพทย์ก็เจอบ่อยค่ะ แม้ว่าในความจริง จิตแพทย์ไม่เคยฉีดยาเด็กๆ แต่เด็กก็จะกลัวจนคุยกันไม่ได้เลยก็มี)

เมื่อเด็กกลัวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตตามที่หมอเล่าข้างต้น ผู้ใหญ่ที่เป็นคนขู่เองก็จะเดือดร้อนไปด้วย บางคนก็ดุด่าเด็กซ้ำว่า “กลัวอะไรไม่เป็นเรื่อง”ซึ่งลืมไปหรือเปล่าว่าความกลัวของเด็กนี้มาจากใครกันที่สื่อให้เขารู้สึกกลัว

 

 

การขู่ลูกเป็นวิธีที่ง่ายในการทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้บ้าง แต่จะไม่ได้ผลถาวร และมีผลเสียตามมา เช่น

1. ลูกจะมีพัฒนาการด้านภาษาไม่ดี

เพราะสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับลูก จะช่วยพัฒนากระบวนการทางความคิดให้กับลูก ถ้าการบอกเหตุและผลสอดคล้องกัน จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า พัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย เนื่องจากการที่ลูกได้เรียนรู้ว่าหากทำหรือไม่ทำแบบนี้ ผลที่เกิดตามมาจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้ลูกเรียบเรียงความคิด และสื่อสารออกมาได้ดีกว่าการที่ได้รับข้อมูลแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล เช่น ถ้าลูกดื้อไม่ยอมกินข้าว แล้วคุณแม่ขู่ลูกโดยบอกว่าจะเรียกเสือมากัด แทนที่จะพูดว่า ถ้าลูกไม่กิน ลูกก็จะหิว เพราะลูกก็จะไม่ได้กินอะไรอีก จนกว่าจะถึงมื้อต่อไป ลูกก็จะงงว่า ไม่กินข้าว แล้วเสือจะมากัดได้ยังไง เมื่อเหตุและผลไม่สอดคล้องกัน ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

2. ทำให้ลูกเป็นคนขี้กลัว วิตกกังวลได้ง่าย

เช่น ถ้าขู่ลูกว่า “ถ้าซน จะให้หมอฉีดยาเจ็บๆ” “ถ้าไม่ยอมนอน ผีจะมาจับตัวไป” เหล่านี้จะทำให้ลูกกลัวหมอแบบไม่มีเหตุผล หรือ ทำให้ลูกกลัวความมืด ไม่ยอมนอนยิ่งกว่าเดิม เพราะกลัวว่าผีจะมาจับตัวไปจริง

3. ลูกไม่เชื่อถือพ่อแม่

ถ้าคำขู่ลูกนั้นไม่เป็นจริง เขาจะไม่สนใจคำขู่อีกต่อไป

4. คำขู่ประเภท “ถ้าทำแบบนี้ จะไม่รักนะ” อันตราย!

ห้ามใช้เด็ดขาดถือเป็นคำขู่อันตราย เพราะเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจลูก

ต่อไปนี้ คือ วิธีการที่ใช้ได้ผลมากกว่า

1. พูดชมเชยเวลาลูกมีพฤติกรรมที่ดี

เช่น “หนูน่ารักมากๆ เวลาที่หนูไม่ตะโกน” “ลูกเก่งมากที่กินผักวันนี้”

2. เป็นตัวอย่างที่ดี

เช่น การเข้าคิวซื้อกาเร็ตป๊อปคอร์น/คริสปี้ครีมไม่แซงคิว การผลัดกันไม่แย่งกันเวลาเจอของแบรนด์เนมลดราคา การรอคอยอย่างอดทนไม่โวยวายเวลาต้องรออะไรนานๆ เช่นเวลารอตรวจที่โรงพยาบาล เป็นต้น

3. บอกผลตามมาที่เป็นจริง

ซึ่งอาจเป็นการให้รางวัล ทำสิ่งที่ลูกชอบ หรือ การงดของที่ลูกชอบ เช่น “ถ้าลูกไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่จะเก็บแล้วหนูจะไม่ได้เล่นอีก 3 วัน” “ถ้าลูกแบ่งของให้น้องเล่น วันนี้แม่จะอ่านนิทานให้ฟังเพิ่มขึ้นอีก 1 เรื่อง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้จริงเท่านั้น และจะทำให้พ่อแม่มีคำพูดเชื่อถือได้

4. ไม่พูดว่า “จะไม่รักลูก”

ให้พูดว่า “แม่รักลูก แต่แม่เสียใจที่ลูกไม่เชื่อฟังแม่” “แม่รักลูก แต่แม่ไม่ชอบเวลาที่ลูกดื้อกับแม่” “แม่รักลูก แต่ถ้าลูกทำผิด แม่ก็ต้องลงโทษลูก”

ง่ายมาก.. เปลี่ยนวิธีขู่เป็นให้แรงเสริม “ชม” “ให้รางวัล”

แม้วิธี “ขู่ลูกให้กลัว” จะทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างรวดเร็ว ผู้ใหญ่ไม่เหนื่อย แต่ไม่เป็นผลดีในระยะยาว จะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ ของเราเลือกทำสิ่งที่เหมาะสมได้ด้วยตัวเขาเอง มาจากการควบคุมตัวเองเป็นและรู้จักรับผิดชอบพฤติกรรมของตัวเอง ซึ่งเป็นวินัยที่จะติดตัวเขาไปจนโต

เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ แสดงความชื่นชม เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่ดี น่าชมเชย และเมื่อถูกตักเตือน ก็ต้องรีบใช้โอกาสนี้ สอนสิ่งที่ถูกที่ควรว่า ลูกควรแสดงออกอย่างไร เมื่อเขาเข้าใจการกระทำของตนเอง และเปลี่ยนแปลงเพราะได้รับคำชม เขาก็จะกลายเป็นเด็กที่รู้อะไรควรไม่ควร

เพราะเด็ก ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกเงยเป็นต้นไม้ใหญ่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งผู้ปลูกอย่างคุณพ่อคุณแม่ ต้องดูแลรดน้ำไปทุกวัน จนกว่าจะเติบใหญ่ ดังนั้น เด็กถือเป็นผลผลิตครอบครัวที่สำคัญค่ะ

อ่านต่อ บทความดี ๆ น่าสนใจ” เพิ่มเติมคลิก!


บทความโดย: พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up