หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ

หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ ลูกพร้อมสำหรับสมาร์ทโฟนแล้ว?

Alternative Textaccount_circle
event
หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ
หยุดเลี้ยงลูกด้วยมือถือ

ลูกติดมือถืออันตรายแค่ไหน?

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เอาไว้ว่า “หลายท่านคงเคยเห็นเด็กเล็กๆ วัยไม่ถึง 2 ขวบ บางคนยังพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่กลับใช้มือปัดหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเป็นภาพที่เห็นกันคุ้นตาในสมัยนี้ ตัวเด็กเองยังไร้เดียงสา แต่ผู้ปกครองควรทราบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ มีคุณอนันต์ และมีโทษมหันต์”

มีข้อมูลที่แสดงว่าคนจะหยิบมือถือขึ้นมาดูเฉลี่ยถึง 150 ครั้งต่อวัน เทคโนโลยีใหม่ๆ มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวก และช่วยแก้ไขปัญหาเก่าๆ ที่มีขอบเขตการใช้งานที่จำกัด แต่ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นเช่นกัน ผู้ใหญ่ต้องไม่ติดเทคโนโลยีเหล่านี้เสียเอง เพราะจะเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ เราคงเคยเห็นพ่อแม่นั่งกดโทรศัพท์มือถือ คุยในไลน์ หรือเล่นเกมส์ แทนที่จะพูดคุยหรือเล่นกับลูก บางครั้ง พ่อ แม่ ลูก ต่างคนต่างก้มหน้ากดมือถือของตนเอง อยู่ในโลกเสมือนจริงของตัวเอง การไม่มีปฏิสัมพันธ์กันจะทำให้พ่อแม่ลดความผูกพันและความสนใจในตัวลูก พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าการที่ลูกเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้ แสดงว่าลูกเป็นเด็กฉลาด หรือเมื่อเด็กอยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตแล้ว เด็กจะไม่ซน และอยู่กับที่ได้ พ่อแม่ก็สามารถทำกิจกรรมหรืองานในบ้านอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องมัวพะวงกับลูก

จากการศึกษาของ Dr. Jenny Radesky กุมารแพทย์แห่งศูนย์การแพทย์บอสตัน สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพัฒนาการของเด็ก ได้ศึกษาพฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีลูกเล็กๆ ที่รับประทานอาหารในร้านอาหาร พบว่า พ่อแม่ 55 คนใช้สมาร์ทโฟนในระหว่างการรับประทานอาหาร แม้ว่าเด็กจะร้องไห้ หรือแสดงพฤติกรรมที่เรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่จะสนใจการพูดคุยโทรศัพท์มากกว่าลูก

Dr. Radesky กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ภาษา เรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และการควบคุมอารมณ์ของตนเองโดยการเฝ้าดูอากัปกิริยา การสนทนา และการแสดงออกทางสีหน้าของผู้คนที่อยู่รอบตัว หากเด็กหรือพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอ เด็กจะขาดการเรียนรู้ดังกล่าวซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ เด็กจะต้องการให้ผู้อื่นตอบสนองต่อตนเองในแบบอย่างเดียวกับที่สมาร์ทโฟนตอบสนอง คือ ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว มีสีสัน บางครั้งอาจถึงขั้นก้าวร้าว

ผลเสียลูกติดมือถือ
หากเด็กหรือพ่อแม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอ เด็กจะขาดการเรียนรู้ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆ

ในเรื่องของอันตรายจากรังสีที่แผ่จากหน้าจอของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผลการวิจัยต่างๆ ยังมีข้อขัดแย้งกันว่า รังสีนั้นมีผลต่อสมองหรือไม่ อย่างไร บางรายงานกล่าวว่ารังสีจากหน้าจอเครื่องมือดังกล่าว ไม่มากพอที่จะเป็นอันตรายต่อสมอง ถึงกระนั้นก็ตาม อย่าเพิ่งรู้สึกโล่งใจ มีรายงานด้วยว่าความถี่คลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมา อาจเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของเด็ก

สมองส่วน frontal lobe ทำหน้าที่ควบคุม ความคิด ความจำ สติปัญญา บุคลิก ความรู้สึก การรับรู้ ความเข้าใจและการใช้เหตุผล การแก้ไขปัญหาและความจำในระยะยาว และส่วน temporal ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็น การพูด การได้ยิน และความจำเรื่องใหม่ๆ สมองทั้ง 2 ส่วนจะมีพัฒนาการไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีการพัฒนามากกว่าวัยอื่น สมองส่วนดังกล่าวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับส่วนของหู วัยรุ่นเป็นวัยที่มักใช้สมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จึงอาจมีผลต่อสมองซึ่งเกี่ยวข้องการเรียนรู้ และการทำงานขั้นสูง

บทความนี้มิได้ต่อต้าน หรือห้ามการใช้หรือเล่นสมาร์ทโฟนของเด็กโดยสิ้นเชิง เนื่องจากการก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังมีความจำเป็นในโลกปัจจุบัน ประโยชน์ของเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ก็มีอยู่ ตัวย่างเช่น เกมส์ต่างๆ ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสายตา การใช้สายตาค้นหาสิ่งของ ช่วยในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว นักวิจัยพบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตและการเล่นเกมส์มีประโยชน์ในเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ สื่อสาร เกิดความสัมพันธ์ในระหว่างเพื่อน

อย่างไรก็ตาม ในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน ทีวี คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ในเด็กที่โตขึ้น ควรจำกัดเวลาการเล่นในแต่ละวัน ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ผู้ปกครองควรเล่นไปด้วยกัน มีการพูดคุย โต้ตอบ เห็นหน้ากัน ไม่ควรมีสมาร์ทโฟนในห้องนอน ควรหาเกมส์ที่ส่งเสริมการสร้างคำศัพท์ต่างๆ ช่วยในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้ทางด้านภาษา เกมส์ที่ไม่รุนแรงก้าวร้าว ไม่มีการใช้กำลังต่อสู้ห้ำหั่น ทำร้ายกัน

ในวันหยุดต่างๆ ควรมีวันที่เด็กและผู้ใหญ่ ปลอดสมาร์ทโฟน ปลอดแท็บเบล็ต พาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ ดิน โคลน ต้นไม้ใบหญ้า ให้เท้าของเด็กได้สัมผัส ดิน โคลน หรือหญ้าบ้าง ตลอดจนเดินชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อย่าให้ภาพในจอมาแทนภาพในชีวิตจริง อย่าให้สมาร์ทโฟนเป็นของเล่นของเด็กแทนลูกบอลหรือตุ๊กตา อย่าให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ต เลี้ยงดูลูกแทนพ่อแม่

อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!

อันตรายจากคลื่นโทรศัพท์มือถือ เสี่ยงมะเร็ง-ทำร้ายสมองหรือไม่?

แพทย์เตือน! ให้ลูกเล่นมือถือ เสี่ยงพัฒนาการแย่ลงในทุกด้าน

หมอเผย! แก้ปัญหา “ลูกติดมือถือ” ผิดวิธี! ส่งผลเสียต่อพัฒนาการ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up