กระตุกต่อม”ดราม่า”เตาะแตะ

Alternative Textaccount_circle
event

การไม่อยากเห็นลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ (เพราะคุณขัดใจลูกได้) เป็นเรื่องดีค่ะ แต่หากคุณไม่ชอบอาการร้องไห้งอแงของลูกและมองว่าลูกไม่ควรมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็น่าเห็นใจเด็กๆ นะค่ะ เพราะที่จริงแล้วอาการงอแง โวยวายเวลาโดนขัดใจนี้เป็นพฤติกรรมตามวัยซึ่งโตขึ้นอาการเหล่านี้จะหายไป แต่ความสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมนี้จะหายไปแบบที่ลูกได้เรียนรู้พฤติกรรมเหมาะสมเข้ามาแทน หรือจะเปลี่ยนเป็นเอาแต่ใจตัวเองในแบบมีเหลี่ยมมุมมากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับคุณค่ะ

เข้าใจต้นเหตุอาการ”ดราม่า”

ต้นเหตุเอาแต่ใจของลูกวัยนี้ เพราะธรรมชาติของเด็กวัยเตาะแตะจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเขายังไม่มีความสามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ เมื่อลูกวัยเตาะแตะโกรธหรือไม่พอใจ จึงระบายออกด้วยการร้องไห้หรืออาละวาดโวยวายซึ่งถ้าทำแล้วได้รับในสิ่งที่ต้องการทันที ก็จะทำให้ลูกเข้าใจว่าทุกครั้งที่ร้องไห้ โวยวายเขาจะได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการ

 

 

3 ต้นเหตุสะกิดต่อมดราม่าควีนส์

– ถูกขัดจังหวะ :แหม…กำลังเล่นอยู่สนุกๆ แม่บอกให้เลิกก็จะให้ลุกปั๊บ ก็..กรี๊ดดดสิแล้วคุณแม่ก็เกิดคำถาม “แค่ให้เลิกเล่นถึงกับอาละวาดเลยเหรอ”วัยเตาะแตะต้องการรู้ตัวล่วงหน้าและเวลาในการประมวลผลคำพูดของผู้ใหญ่ การให้เขาเลิกสิ่งที่สนใจตรงหน้าและไปทำอีกอย่างหนึ่งทันทีจึงกลายเป็นการขัดจังหวะอารมณ์มากกก

ก่อนขัดจังหวะ:ควรบอกให้ลูกรู้ตัวล่วงหน้าสักเล็กน้อย ในแบบที่เด็กเล็กเข้าใจได้ เช่น “ลูกเล่นได้จนแม่ล้างจานเสร็จแล้วไปอาบน้ำกันนะ” ถ้าบอกเป็นเวลาลูกวัยนี้ยังไม่เข้าใจ หรือเบี่ยงเบนโดยใช้ความสนุกมาดึงความสนใจก็ได้

 

– ถูกขัดใจ: อยากได้ของเล่นสักชิ้นหรือขนมสักห่อแต่แม่ไม่ยอมให้ เท่านี้ก็กรี๊ดห้างแตก น้ำหูน้ำตาไหลเป็นทางหรือลงไปนอนชักดิ้นชักงอบนพื้น งานนี้ถ้าใจไม่แข็งพอรับรองได้เสียทรัพย์แน่ๆ

ก่อนโหมพายุใส่ลูกกลับ:สงบสติอารมณ์ตัวเองก่อน ไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่น ถ้าปล่อยให้ความอายกดดันคุณสำเร็จยอมควักกระเป๋าทุกครั้งที่ลูกแผลงฤทธิ์ ทั้งลูกและคุณก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร สงบสติอารมณ์ของคุณได้แล้วให้อุ้มลูกออกไปจากตรงนั้น โดยไม่ต้องพูดหรือเจรจาอะไรทั้งสิ้นเพราะจะกลายเป็นแรงเสริมให้เขาร้องโวยวายต่อไปมีเวลาคุยกันอีกมาก เมื่อพายุสงบแล้วค่ะ

 

– ทำเองไม่ได้: เพราะอวัยวะและทักษะการใช้งานกล้ามเนื้อต่างๆยังพัฒนาไม่เต็มที่จะหยิบจะจับอะไรก็หก หล่น ช้า และยังมีคนมาแย่งทำให้อีกแบบนี้จะไม่ให้ลูกหงุดหงิดได้อย่างไรละ

ก่อนจะรีบช่วยเหลือ:ปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำเองบ้าง ดูแลให้ปลอดภัยก็พอ เช่น กินอาหารเอง เทน้ำใส่แก้วสวมเสื้อผ้าหรือเข้าไปช่วยเฉพาะเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือเท่านั้นและควรเผื่อเวลาไว้สำหรับเหตุนี้ด้วย หากรู้ว่าต้องไปธุระ

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up