เด็กคลอดก่อนกำหนด

ปัญหา และการดูแล “เด็กคลอดก่อนกำหนด”

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กคลอดก่อนกำหนด
เด็กคลอดก่อนกำหนด

ปัญหาของเด็กคลอดก่อนกำหนด

1.ปอดไม่สมบูรณ์ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด ยิ่งอายุครรภ์น้อย ยิ่งเกิดได้มาก ทำให้หายใจน้อยลง

2.เลือดออกในสมองเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทันทีหลังคลอด เนื่องจากสมองของทารกก่อนกำหนดจะนิ่มมาก บวกกับขณะคลอดต้องผ่านการเขย่า เจอแสงสว่าง ความตกใจ ความร้อน-เย็นที่ต่างกัน ทำให้ความดันเลือดผันผวน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก เกิดขึ้นได้ประมาณ 30% ของทารกก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม และไม่มีทางป้องกัน ถ้าเลือกออกมากก็จะเสียชีวิต

3.การติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดบางส่วนจะคลอด เพราะคุณแม่มีการติดเชื้อในช่องคลอด หรือน้ำเดิน ถุงน้ำแตก ทารกจึงมีภาวะติดเชื้อตั้งแต่เกิด ทำให้เสียชีวิตได้ กรณีนี้เกิดได้ไม่บ่อย แต่ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรก เพราะกลไกป้องกันยังไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับต่ำ คุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้มากเป็นพิเศษ

4.น้ำหนักตัวน้อย เด็กที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวน้อย คุณหมอจะดูแลอย่างใกล้ชิด ให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยพัฒนาระบบสมอง และร่างกายของลูกน้อยได้

5.พัฒนาการช้า เด็กจะมีพัฒนาการช้าในช่วงแรก หลังจากนั้นพัฒนาการจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ การนั่ง คลาน จะเหมือนเด็กทั่วไป แต่อาจเดินได้ช้ากว่าประมาณ 2 เดือน และจะมีพัฒนาการเป็นปกติเมื่อมีอายุครบ 2 ขวบ คุณแม่ควรดูแลเรื่องสารอาหารให้ครบถ้วน เพราะทารกจะต้องการพลังงานมากกว่าปกติ เพื่อช่วยเสริมสร้างในการเจริญเติบโต

6.การมองเห็น เพราะความไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา ทำให้เปราะบาง และแตกง่าย อาจมีเลือด หรือแผลเป็นในจอประสาทตา เกิดการดึงรั้ง หรือจอประสาทตาหลุด ส่งผลให้บกพร่องในการมองเห็น ทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 35 – 36 สัปดาห์ หรือน้ำหนักน้อยกว่า 2,000 กรัม จึงต้องตรวจตาก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจซ้ำอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 7 – 9 หลังคลอด

ปัญหาทารกคลอดก่อนกำหนด
ปัญหาและการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

7.การได้ยิน ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ จึงต้องได้รับการตรวจก่อนออกจากโรงพยาบาล และตรวจซ้ำเมื่ออายุ 3 – 6 เดือน เพราะมีผลต่อพัฒนาการด้านการพูด และภาษาได้

8.โลหิตจาง เพราะทารกมีธาตุเหล็กสะสมไว้น้อย และถูกนำออกมากทดแทนระดับฮีโมโกบินที่ลดลงจากการเจริญเติบโต ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง รุนแรง และยาวนานกว่าทารกทั่วไป

9.การหยุดหายใจในทารกแรกเกิด ในขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์ ไม่จำเป็นต้องหายใจ หรือหายใจเองบ้าง แต่เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ บางครั้งทารกก็นอนเงียบเฉยๆ ขณะนอนหลับทารกจะหยุดหายใจ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไหลตาย คุณพ่อ คุณแม่ต้องคอยดู และปลุกลูกให้หายใจเป็นระยะ

10.ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรก เพราะระบบทางเดินหายใจ และปอด ยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้หายใจเสียงดัง โดนเฉพาะขณะนอนหลับ อาจหายใจไม่สม่ำเสมอ อัตราการหายใจเปลี่ยนแปลงมากในขณะตื่น หรือนอนหลับ

11.โรคปอดเรื้อรัง เมื่อโรคปอดในระยะแรกหายแล้ว แต่ยังหายใจเองไม่ได้ ไอไม่เป็น หรือไม่ค่อยแรง เสมหะจึงออกมาไม่ได้ ทำให้ต้องพึ่งเครื่องช่วยหายใจไปจนกว่าทารกจะไอเองได้ บางครั้งอาจทำให้ปอดของทารกมีปัญหา เช่น โดนออกซิเจนไม่ได้ เพราะจะทำให้ไอเรื้อรัง แต่เมื่อนำเครื่องช่วยหายใจออก จะหายไปเองภายใน 1- 2 ปี เด็กที่มีปัญหามาก เมื่ออายุ 9 – 10 ขวบ ก็อาจจะเป็นโรคหอบได้

12.ลำไส้เน่าตายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นประมาณ 10% ของทารกที่เกิดมาตัวเล็ก ยิ่งตัวเล็กมากก็ยิ่งมีโอกาสสูง และยังไม่ทราบสาเหตุ และวิธีป้องกัน โดย 50% จะมีอาการเพียงเล็กน้อย คือ ลำไส้ขาดเลือดเพียงชั่วคราว ท้องอืด กินนมแม่ไม่ได้ประมาณ 7 – 10 วัน อีก 25% มีลำไส้ตาย แต่ไม่ทะลุ ต้องรอจนกว่าลำไส้จะรักษาตัวเองได้ และอีก 25% ที่เหลือ ลำไส้จะทะลุ แล้วทารกเสียชีวิต

13.เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการแทรกซ้อนตามมา เช่น หายใจลำบาก อุณหภูมิต่ำ หรือตัวเย็น หัวใจวาย เพราะเส้นเลือดหัวใจปิดไม่สนิท เกิดอาการชัก เกร็ง ตัวเหลือง ซีด และอื่นๆ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด” คลิกหน้า 3

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up