พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารก 3 เดือน ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร?

Alternative Textaccount_circle
event
พัฒนาการทารก 3 เดือน
พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารก 3 เดือน วัยนี้สามารถเห็นได้ชัดถึงการเจริญเติบโต จะเริ่มมีการตอบสนองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเรียนรู้วิธีเลี้ยงดู เพื่อกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อย

พัฒนาการทารก 3 เดือน ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร?

เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับทารกและคุณพ่อคุณแม่ เด็กเริ่มเติบโตขึ้นและผ่านช่วงเวลาของการเป็นทารกแรกเกิดแล้ว คุณพ่อคุณแม่หลาย ท่าน เริ่มมีความผ่อนคลาย และรับมือกับทารกได้ง่ายขึ้น การรับมือกับช่วงเวลาที่ยุ่งยากก่อน 3 เดือน เช่น เกิดอาการโคลิค และการต้องให้นมบ่อย ๆ จะเริ่มดีขึ้น ทารกจะเริ่มกินและนอนเป็นเวลา บางรายอาจบริโภคนมเพียงครั้งเดียวในตอนกลางคืน และหลับยาวได้ถึง 10 ชั่วโมง เด็กวัย 3 เดือน มีพัฒนาการ เป็นอย่างไรบ้าง ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวบข้อมูลมาฝากแล้วค่ะ

พัฒนาการทารก 3 เดือน
พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารก 3 เดือน ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร?

ทางด้านกายภาพ

คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตถึงพัฒนาการของลูกน้อยได้ กระดูกบริเวณคอที่เชื่อมกับศีรษะจะแข็งแรงขึ้น คอเริ่มแข็ง สามารถควบคุมศีรษะไม่ให้สั่นไปมาได้ เมื่อนอนหงาย สามารถยกศีรษะ และค้างไว้ได้หลายนาที และเมื่อนอนคว่ำ ทารกจะสามารถชันคอได้นานขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเห็นทารกดันหน้าอกขึ้นได้ด้วย กระดูกและกล้ามเนื้อของทารกกำลังพัฒนา เติบโตขึ้น

เมื่อนอนหงาย ทารกจะเหยียดแขน เหยียดขาไปพร้อมๆกันได้ ดึงมือทั้ง 2 ข้างเข้าหากันคล้ายอาการผวา กำมือ และเริ่มคว้าสิ่งของ ของเล่นได้ โดยการจับ การคว้าสิ่งของนั้น เป็นการเรียนรู้ สัมผัส และจดจำของทารก นอกจากนี้ทารกอาจเริ่มพลิกตัวเองได้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบพัฒนาการของลูก โดยการยื่นของเล่นให้ เพื่อดูการตอบสนองของลูกว่าจะยื่นมือมาจับของเล่นหรือไม่

ทางด้านการได้ยิน และการมองเห็น

ประสาทตาของทารกจะเริ่มจับภาพได้ดีขึ้น แต่อาจจะยังเห็นได้ไม่ไกล ไม่ชัด ไม่สามารถแยกสีได้ อาจมองเห็นเป็นแค่สีขาวและดำ ดังนั้นทารกจึงให้ความสนใจมือตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสิ่งใกล้ตัว และมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด จะจ้องมองมือตัวเองบ่อยๆ เอามือเข้าปาก กุมมือตัวเอง เหมือนมือตัวเองเป็นของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ เป็นของเล่นที่แปลกใหม่ การมองเห็นจะพัฒนาค่อย ๆ ชัดขึ้น สามารถแยกสีต่าง ๆ  ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถหาของเล่นที่มีสีสัน และให้ลูกได้หยิบ จับ เพื่อเสริมพัฒนาการของลูก

ทารกอาจเริ่มได้ยินเสียง และหันศีรษะหรือมองตามเสียงที่ได้ยิน จะเริ่มมีการประสานงานของดวงตาดีขึ้น เริ่มจดจำรายละเอียดในสิ่งที่มองเห็น หรือสิ่งที่ได้ยิน สามารถแยกแยะเสียงพูดกับเสียงต่าง ๆ ได้ เริ่มจำเสียงของคุณแม่ได้

ทางด้านการสื่อสาร

เมื่อทารกเริ่มพัฒนาด้านการได้ยิน และการมองเห็น ทารกอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองว่าตนเองรู้สึกอย่างไร เช่น ยิ้มโต้ตอบ ส่งเสียงพูดคุย และร้องไห้เมื่อรู้สึกหิว หรือไม่สบายตัว มีไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการลูกด้วยการพูดคุยกับลูก เพื่อฝึกฝนให้ลูกมีการสื่อสารโต้ตอบได้เร็วขึ้น

การพลิกตัว

ทารกอาจมีกล้ามเนื้อ ข้อสะโพก ข้อเข่า ที่แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น จึงทำให้สามารถพลิกตัวได้เอง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของทารก ควรเตรียมพื้นที่ที่มีความนิ่ม และมีพื้นที่ในการพลิกตัว เพื่อป้องกันทารกตกจากเตียงที่สูง

ควรส่งเสริมพัฒนาการอย่างไร?

  • สื่อสารกับลูกบ่อย ๆ โดยการอ่านหนังสือ เปิดเพลง หรือพูดคุยกับลูก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ทารกมีการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน และพูดเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน
  • โอบกอดลูก เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย และให้ลูกได้จับนิ้วมือของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูก
  • ให้ทารกนอนคว่ำ แล้วนำของเล่นที่มีสีสันมาวางไว้ข้างหน้า เพื่อดึงดูดความสนใจ และให้ทารกยกศีรษะขึ้นเอง เป็นการเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระดูกบริเวณคอ เมื่อทารกมีอาการง่วง เปลี่ยนให้ทารกนอนหงาย เพื่อป้องกันการหายใจไม่ออก หากเผลอปล่อยให้ทารกนอนคว่ำตลอดทั้งวัน
  • ช่วยเสริมสร้างกระดูก ด้วยการนำของเล่นมาวางไว้ตรงหน้าของทารก ดึงดูดให้ทารกอยากเอื้อมมือจับ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณคอและหลัง
  • ทารกส่วนใหญ่อาจร้องไห้หนัก เพื่อสื่อสารถึงความต้องการ เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม หิว หรือเจ็บป่วย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูก โอบกอด และสำรวจว่ามีอาการเจ็บป่วย หรือต้องการสิ่งใด การดูแลของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกได้เป็นอย่างดี
พัฒนาการทารก
พัฒนาการทารก

ปัญหาพัฒนาการทารก 3 เดือน ที่ควรพบคุณหมอ

หากทารกแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบคุณหมอทันที

  • ทารกร้องไห้หนักและนาน โดยปกติทารกส่วนใหญ่จะร้องไห้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ในบางครั้งอาจแยกได้ยาก ว่าเกิดจากภาวะโคลิคหรือไม่
  • ทารกนอนไม่หลับ หรือนอนน้อยกว่า 15 ชั่วโมง/วัน
  • บริโภคนมได้น้อย
  • ไม่มีการตอบสนองต่อเสียง และไม่โฟกัส หรือไม่เพ่งสายตามองสิ่งรอบตัว
  • กำมือแน่นเกินไป
  • ไม่มีการยิ้มตอบสนอง
  • ร่างกายมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดในส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • ไม่มีปฏิกิริยาสะดุ้ง หรือตกใจต่อเสียงที่เกิดขึ้นกะทันหัน
  • อาการฟลอปปี้ซินโดรมในเด็ก (Floppy Baby Syndrome) ที่สังเกตได้จากกล้ามเนื้อของทารกอ่อนแอ หลัง 3 เดือนถ้าคอไม่แข็ง กล้ามเนื่ออ่อนปวกเปียก ต้องรีบมาพบคุณหมอเพื่อประเมินพัฒนาการของทารก

การเล่นกับทารก

มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับการอุ้มอย่างรักใคร่ มีการพูดคุย ยิ้มแย้ม ลูกน้อยจะมีการมองริมฝีปาก มีการพัฒนาทักษะการฟัง และการมีสิ่งเคลื่อนไหวที่มองเห็นได้หลากหลาย จะทำให้ทารกเกิดการพัฒนาทางด้านการเรียนรู้ และทางด้านการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของลูกมากที่สุดคือ คุณแม่

ทารกในวัย 3 เดือนนี้ ไม่จำเป็นต้องอุ้มอยู่ตลอดเวลา แต่ควรให้ทารกได้เรียนรู้ในหลาย ๆ อย่าง เช่น เล่นของเล่นกับทารก ให้ดูภาพ หรือสิ่งของหลากหลาย ร้องเพลงให้ฟัง พร้อมทำมือประกอบง่าย ๆ

อุ้มทารกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ที่อากาศดี ๆ จะช่วยให้หลอดลมของทารกแข็งแรงขึ้น และเหมือนทารกได้ออกกำลังกาย ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ดีในช่วงกลางคืน

อาการที่อาจเกิดขึ้นในวัย 3 เดือน

ติดหวัด

หากคนในบ้านเป็นหวัด อาจจะแค่คัดจมูก จาม และอยู่ใกล้ทารก มีความเป็นไปได้สูงที่ทารกจะติดหวัด ถ้าเป็นหวัดไข้จะไม่สูงมาก (37-37.6 องศาเซลเซียส) อาจมีน้ำมูกใสๆไหล แล้วค่อยๆข้นขึ้น จากนั้นก็หายเป็นปกติ หากมีไข้ให้เช็ดตัว เพื่อระบายความร้อน สำหรับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือร่างกายไม่แข็งแรงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

มีขี้ตา

หากตื่นมาในตอนเช้าแล้วเห็นขี้ตาที่บริเวณหางตา หรือหัวตาของทารก และมีน้ำตาคลอ ๆ อยู่ให้สังเกตว่า ขนตาล่างพับเข้าไปด้านในลูกตาหรือเปล่า เพราะทารกบางคนกินเก่ง ทำให้แก้มยุ้ย เนื้อแก้มอาจจะดันขนตาเข้าไปข้างใน อาจให้คุณหมอถอนขนตาออกให้ แต่บางคนมีขี้ตาเยอะมาก จนลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เยื่อตาอักเสบ คุณหมออาจให้ยามาป้ายหรือหยอด ใช้เวลาไม่กี่วันก็หายเป็นปกติ

ตาเข

คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตตาลูก ว่าทำไมเวลาลูกมองตา ตาดำทั้ง 2 ข้างเหมือนไม่ไปทิศเดียวกัน วิตกว่าลูกจะตาเขหรือไม่ ในวัยนี้ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะการทำงานของกล้ามเนื้อสายตายังไม่ดี ทารกยังมองของสิ่งเดียวกันทั้ง 2 ข้าง ยังไม่ได้ ทารกจะมองดีขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ดังนั้นจึงยังไม่ต้องวิตกกังวล

บทความเกี่ยวกับ พัฒนาการทารก 3 เดือน ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากนี้ คงทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

พัฒนาการทารก 1 เดือน และวิธีกระตุ้นพัฒนาการรอบด้าน!

พัฒนาการทารก แรกเกิด – 1 ขวบ หนูทำอะไรได้บ้างนะ?

ตารางวัคซีน สำหรับเด็กแรกเกิด–อายุ 15 ปี ประจำปี 2565

ตาแฉะ ทารกตาแฉะ ขี้ตาเป็นหนอง ปล่อยไว้อาจเป็นโรคนี้!!

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://hellokhunmor.com, http://www.sanook.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up