วัยประถมต้น ส่งเสริมให้เล่น ไม่เน้นเรียนพิเศษ

Alternative Textaccount_circle
event

ลูกวัยนี้แข็งแรงมากขึ้น พลังยิ่งมากมายกว่าวัยอนุบาล และที่สำคัญเขากำลังจะก้าวจากเด็กเล็กไปเป็นเด็กเริ่มโต ขึ้นชั้นประถม ต้องพบเจอ กฎระเบียบต่างๆ มากกว่าตอนเป็นเด็กเล็ก หากเด็กยังไม่สามารถปรับตัวได้ เขาจะมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนนอก ไม่มีความมั่นใจ เพราะไม่สามารถทำตามเหมือนคนอื่นๆ ได้ 

พูดเป็นการเป็นงาน การเล่นจะช่วยย้ำทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมจริงๆ ให้เด็กมากขึ้น เช่น อยู่อย่างรู้กฎ กติกา มารยาท อดทน รอคอย การทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ผลสำเร็จที่ตั้งไว้  พูดง่ายหน่อย การเล่นก็จะช่วยให้เด็กรู้เหนือรู้ใต้ในชีวิตจริงง่ายขึ้น ช่วยให้การฝึกเรื่องยากๆ แต่จำเป็นในการอยู่ร่วมกับชาวบ้านชาวช่อง เนียนขึ้น ง่ายขึ้น

วัยเริ่มโต ชอบเล่นอะไรล่ะ?

ลูกวัยนี้ยังชอบเล่นคล้ายกับวัยอนุบาล เล่นอะไรที่เขาริเริ่มเอง ทดลองเล่นอะไรใหม่ๆ เล่นบทบาทสมมติ ขณะเดียวกันสามารถเล่นอะไรที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ชอบเล่นกับวัยเดียวกันแบบพ่อแม่ไม่ต้องจัดหาให้และจะดียิ่งขึ้น ถ้าพ่อแม่ช่วยส่งเสริมให้ลูกได้เล่นอะไรที่เอื้อให้เขาได้เรียนรู้ทักษะจำเป็นมากขึ้นอย่างที่ว่ามาข้างต้น  ซึ่งก็อาจช่วยให้คุณเหนื่อยน้อยลง (ได้อีกหน่อย 555)

1. เล่นกับเพื่อน

ให้เขาเล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันและนำเสนอ หรือจูงใจให้เล่นในแบบที่มีกฎกติกากำหนด เช่น เล่นกีฬา หรือ Board Game เกมเศรษฐี เกมบันไดงูที่ต้องฝึกการอดทนรอคอย เล่นทีละคนตามกติกา ซึ่งแต่เดิมถ้าเขาเล่นแบบนี้กับคุณหรือผู้ใหญ่ เขามักเป็นฝ่ายได้เปรียบ หรือได้อย่างที่เขาต้องการ แต่คราวนี้มาเล่นกับเพื่อนๆ ด้วยกัน เขาจะเจอสถานการณ์ที่เพื่อนก็ไม่ยอมให้เขาชนะได้ง่ายๆ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ยอมเขา จึงเป็นข้อดีที่จะทำให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหา การประนีประนอม รอมชอมได้หรือเปล่า  โดยควรมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำและช่วยไกล่เกลี่ยในบางสถานการณ์ด้วย

2. เล่นสมมุติ เลียนแบบ

ยังเป็นเรื่องสนุกของลูกวัยนี้ และควรให้อิสระมากขึ้น เพื่อให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น สร้างเรื่องราวและข้อตกลง กติกาต่างๆ ร่วมกัน “เราจะเล่นเรื่องอะไร  เธอเล่นเป็นใคร ชั้นเล่นเป็นใคร คนเป็นพ่อแม่ต้องทำอะไร คนเป็นหมอต้องดูแลคนไข้ คุณตำรวจช่วยจับผู้ร้าย” ซึ่งการเล่นสมมุติและเล่นเลียนแบบจะทำให้ลูกรู้จักบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน  เล่นและจินตนาการตามบทบาทและเนื้อเรื่องที่ได้รับ  แถมยังช่วยให้เขาได้แสดงความคิดเห็น หาอุปกรณ์ในการเล่นร่วมกันอีกด้วย

 

พ่อแม่เล่นกับลูกไม่เป็น ก็ทำอย่างอื่นได้

ประโยชน์ของการเล่นเป็นกลุ่มจำเป็นสำหรับลูกวัยเริ่มเข้าประถม แต่ถ้าคุณไม่ถนัด ไม่ชอบก็เล่นแบบอื่นกับลูกได้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ ลูกก็ได้ฝึกทักษะจำเป็นอยู่ดี

กิจกรรมทำง่ายๆ ที่คุณถนัดก็จัดไป นำเสนอได้ วิ่งเล่นในสนาม ได้ออกกำลังกายด้วยกัน เล่นกีฬา ขี่จักรยาน ทำงานศิลปะ อ่านหนังสือนิทาน ไปเที่ยวนอกบ้าน ปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน ทำขนม ทำอาหาร ไปจ่ายตลาดซื้อของ ฯลฯ  ถ้ามีคุณทำด้วยยังเป็นการเล่นที่ถูกใจลูกวัยนี้เสมอ

 

3 ข้อคิดฝากพ่อแม่ ให้ลูกเล่นได้ประโยชน์จริง

สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยกำลังโต มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ครูแป๋มมีข้อคิดฝากไว้เพื่อให้ลูกได้เติบโตจากการเล่นอย่างแท้จริง

1. ส่งเสริมให้เล่น…ไม่เน้นเรียนพิเศษ

ลูกวัย 5-8 มีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบความเป็นอิสระ และมักจะมีวิธีคิดสร้างสรรค์การเล่น หรือเลือกเล่นด้วยตัวเองได้ ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นตามความสนใจและเล่นอย่างอิสระ (Free Play) จะดีที่สุด ไม่ว่าเขาจะอยากวิ่งเล่นในสนาม ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี โดยคอยดูแลใกล้ชิดหรือสอบถามความเห็นลูกอยู่ใกล้ๆ

“อยากให้คุณพ่อคุณแม่เน้นการปล่อยให้ลูกเล่น ได้ลองผิดลองถูกมากกว่าการชี้แนะ หรือวางแนวทางให้ลูกเป็นอย่างที่อยากให้เป็น

“หากต้องการค้นหาว่าลูกจะถนัดหรือมีความสามารถอะไรโดดเด่นจริงๆ  คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตดูว่าลูกสนใจ อยากทำอะไรจริงๆ แล้วจึงหากิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจให้ลูกได้ทำ จะทำให้ลูกเล่นอย่างมีความสุข สมองพัฒนาได้ดีตามวัย แถมยังเพิ่มพูนทักษะด้านนั้นให้เก่งขึ้นจนเชี่ยวชาญได้อีกด้วยค่ะ”

“การพาลูกไปเรียนเสริมทักษะมากมาย บัลเล่ต์ ยูโด หรือเรียนพิเศษวิชาการเช่น คณิตศาสตร์ หรือภาษา ก็มีด้านดีตรงที่ลูกจะได้เจอกิจกรรมที่หลากหลาย แต่สำหรับเด็กบางคน เขาอาจรู้สึกว่าเยอะเกินไปเพราะตามธรรมชาติแล้ว เขาก็ยังอยู่ในวัยที่อยากเล่นเป็นอิสระ มีช่วงเล่นที่ผ่อนคลายบ้าง หรืออยู่กับพ่อแม่มากกว่า

2. งดการสั่ง..หยุดบัญชาการลูก!

ลูกวัยนี้ควรรู้จัก และได้เรียนรู้ ผิดถูกด้วยตัวเองมากขึ้น แพ้ได้ มีความยืดหยุ่นกับตัวเอง ไม่โทษหรือตำหนิตัวเองอย่างไม่สมเหตุสมผล พ่อแม่จะช่วยลูกได้มาก เพียงไม่ใส่ใจหรือกะเกณฑ์กับการเล่นของลูกเกินไป เพราะหากลูกเล่นๆ อยู่ มีพ่อแม่บอกตลอดว่า “ไม่สวยเลย ทำใหม่ซิ” “ทำไม่ถูกนะ” จะส่งเสริมลูกในทางลบมากกว่า เช่น ทำให้เขาเครียด กังวล ไม่รู้จักการแพ้ชนะ ไม่ยอมผ่อนปรนให้ตัวเอง ฯลฯ ล้วนไม่ส่งผลดีกับลูกค่ะ

3. ขอเพียงอย่าคิดว่าการเล่นของลูกไร้สาระ

เพราะการเล่นของเด็กไม่ว่ารูปแบบไหน ก็เป็นสิ่งสำคัญและมีคุณค่ามหาศาลกับพัฒนาการเด็ก แม้พ่อแม่เล่นกับลูกไม่เป็น ก็ไม่เป็นไรค่ะ ไม่จำเป็นต้องเล่นแบบเด็กๆ ก็ได้ แต่คุณส่งเสริมได้ วิธีง่ายที่สุดเพียงแค่ปล่อยให้เขาเล่นเอง คิดเอง ร่วมพูดคุย เฝ้ามองเขาเล่น  ชื่นชม ให้กำลังใจ ให้ความเห็น ทำให้เขารู้ว่าการเล่นของเขาไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ลูกก็ได้ประโยชน์จากการเล่นแล้วขอให้คุณมีส่วนร่วมใกล้ชิดกับลูกได้มากขึ้น ทุกอย่างก็ฟินค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด (Play Therapist) โรงพยาบาลมนารมย์ | Facebook fanpage: Play Story by Pam

เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up