ลูกโตเริ่มเครียด เพราะขาดการ “เล่น”

Alternative Textaccount_circle
event

ครูแป๋มได้เจอเพลิน สาวน้อยวัย 12 ปีที่เงียบขรึมและค่อนข้างวิตกกังวลในห้อง play therapy เพราะคุณแม่อยากให้สาวน้อยมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออกและมีอารมณ์แจ่มใสมากขึ้น ที่คุณแม่เป็นห่วงลูกสาวมากคือการเป็นคนต้องทำทุกสิ่งให้สมบูรณ์แบบ (ภาวะ perfectionist) อยากเห็นลูกสาวมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และยอมรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นในชีวิตได้

เพลินจะหงุดหงิดและเครียดมากถ้าผลงานที่ทำออกมาไม่สวยหรือสมบูรณ์แบบ เช่น สอบไม่ได้ที่ 1 เหมือนเคย เพียงเกรดรายวิชาลดลงจากเกรด 4 เป็นเกรด 3 เพลินเคยผิดหวังรับไม่ได้ ถึงขั้นเครียดไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

ครูแป๋มได้เจอเพลินหลายครั้งแล้ว การเล่นของน้องแต่ละครั้งค่อนข้างเป๊ะมาก เช่น วาดรูประบายสี น้องจะวาดแล้วลบๆๆ จนกว่าจะสวยถูกใจ ทำงานปั้น ผลงานปั้นของน้องต้องออกมาเนี้ยบไร้ที่ติ ถ้าทำขนมเค้ก เค้กฝีมือเธอต้องออกมาสวยสมบูรณ์แบบที่สุด เพลินตั้งมาตรฐานต่อตนเองสูงเสมอ ผลงานต้องออกมาดีที่สุดเท่านั้นจึงจะพอใจ

ผลงานที่ดีที่สุดออกมาในทุกชั่วโมงการเล่นที่เราเจอกัน แต่สิ่งเดียวที่ครูแป๋มไม่เห็นตลอดชั่วโมงการเล่นของเพลินคือ ความเพลิดเพลิน สนุกสนานผ่อนคลายไปกับการเล่น นอกจากนี้ เพลินยังมีความวิตกกังวลสูงและไม่มั่นใจในตนเองอย่างเห็นได้ชัด ไม่กล้าบอกความต้องการของตนเอง หรือความในใจของตนเองมากนัก กรณีอย่างนี้ต้องใช้เวลาระยะเวลาในการช่วยเหลือ แต่เพลินก็ค่อยๆ ดีขึ้น

ครูแป๋มได้ข้อมูลจากคุณแม่ว่า เพลินมีตารางประจำวันที่เต็มไปด้วยการเรียนพิเศษต่างๆ คณิต อังกฤษ วิทยาศาสตร์ ภาษาจีนและอีกหลายวิชามาตั้งแต่เด็กๆ แต่ในตารางนั้นไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการเล่น เพราะที่บ้านของเพลินให้ความสำคัญกับการเรียนดี เรียนเก่ง

คำชื่นชม และรางวัลเมื่อเพลินทำคะแนนได้ดี กลายเป็นทั้งแรงผลักดันและกดดันให้เธอต้องเรียนให้ดีที่สุด เป็นที่หนึ่ง

เพลินผลักดันให้ตัวเองเป็นที่หนึ่งจนได้ แต่กลับยังไม่มีความสุข เพราะยังเคร่งเครียดกับการระวังรักษาไม่ให้ตัวเองตกจากที่หนึ่ง ถึงคุณแม่จะบอกให้คลายกังวลว่า “เรื่องเรียนจะเป็นอย่างไรก็ได้ แม่อยากเห็นลูกมีความสุขมากกว่าเรียนเก่งแต่ไร้ความสุข”

พูดถึงการเล่นแล้ว คุณแม่บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ตั้งแต่เล็กๆ เพลินขาดโอกาสในการเล่นมาตลอด ด้วยความเป็นห่วงลูก ครอบครัวค่อนข้างเข้มงวดกวดขันและเลี้ยงดูอย่างปกป้องมาก เพื่อนมาชวนไปเล่นด้วยกันข้างนอก ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไป ด้วยความเป็นห่วงว่าเพลินจะได้รับอันตรายบ้าง ไม่ปลอดภัยบ้าง ถูกแกล้งบ้าง

ในครอบครัวก็ไม่มีใครเล่นกับเพลิน ขนาดว่าเพลินเล่นคนเดียว เล่นกับตุ๊กตา เล่นสมมติเป็นนางเงือก คุณแม่ก็จะดุว่าเธอเล่นไร้สาระ เล่นไม่เหมาะสม เพลินจึงค่อยๆ เลิกเล่น และกลายเป็นเด็กที่เล่นไม่เป็นไปโดยปริยาย

ชั่วโมงการเล่นบำบัดและได้พูดคุย รับฟัง ปรับทัศนคติ แม้คุณแม่จะรู้สึกเสียใจมากที่เป็นสาเหตุให้น้องเพลินขาดโอกาสในการเล่นสนุกอย่างที่เด็กควรจะได้รับ ส่งผลให้น้องเพลินกลายเป็นคนไม่มีชีวิตชีวา ช่างกังวล และไม่มั่นใจในตนเอง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีมากสำหรับการช่วยเหลือลูกสาวที่รัก

เพลินค่อยๆ ดีขึ้น  แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ทีละน้อย เพราะการมารับการรักษาเมื่อโตแล้ว จะยากและจำเป็นต้องให้เวลาการรักษานานกว่าเด็กเล็ก แต่กระนั้นก็ยังไม่สายเกินไป ตราบใดที่คุณพ่อคุณแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตที่สมดุล

เด็กมีหน้าที่ทั้งเรียนและเล่น เพราะเขาต้องเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตให้เป็น อยู่ให้รอดในวันข้างหน้า จะเรียนหรือเล่นก็มีสิ่งสำคัญและจำเป็นที่เด็กต้องการและได้เรียนรู้ ให้โอกาสเด็กได้เล่นเถอะค่ะ เพราะเด็กที่เล่นเป็น ย่อมใช้ชีวิตเป็นค่ะ

 

บทความโดย: ครูแป๋ม-คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด (Play Therapist) โรงพยาบาลมนารมย์ | Facebook fanpage: Play Story by Pam

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up