6 สิ่งที่สกัดกั้นการพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ ของลูก

event

ความคิดสร้างสรรค์

สำหรับสิ่งที่จะเป็นตัวการในการปิดกั้นพัฒนาการทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของลูก โดย คุณครูวิวรรณ สารกิจปรีชา ผุ้อำนวยการและเจ้าของ ร.ร.อนุบาลกุ๊กไก่ ได้ออกมาชี้แนะเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นตัวสกัดกั้น ความคิดสร้างสรรค์ของลูก ดังนี้

1. ของรางวัล

เพราะเมื่อเด็กไม่มีความหวังเรื่องการได้รางวัล เพื่อแลกกับการทำสิ่งใดๆ เด็กๆ ก็จะรู้สึกมีความสุขกับกระบวนการการทำอย่างสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งแรงจูงใจภายใน (จิตใจ,ความฮึกเหิม) ย่อมนำไปสู่ผลงานที่ดี ประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะแรงจูงใจภายนอกจะทำให้เด็กเอาแต่มุ่งหวังผลงานออกมาตามที่คิดว่าจะได้รางวัลมากเกินไป จึงทำให้ความคิดสร้างสรรค์ถูกปิดกั้นโดยอัตโนมัติ แต่ในทางกลับกันแรงจูงใจภายในจะช่วยให้เด็กมีความสุขกับการคิด และการทำงานสิ่งนั้นมากกว่า ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แบบไม่มีที่สิ้นสุด

2. การประเมิน และแรงกดดัน หรือการถูกจับตามองจากผู้อื่น

ถ้าเด็กๆ รู้ว่าผลงานจะถูกประเมินและให้คะแนนโดยผู้ใหญ่ เด็กๆก็อาจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์น้อยลงได้ ทั้งนี้การประเมินผลการกระทำต่างๆ ที่เด็กๆ ต้องใช้ความคิด หากสิ่งนั้นต้องอยู่ภายใต้ แรงกดดันที่จะให้ทำตามผู้อื่น ก็จะนำไปสู่การใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่น้อยลง และการถูกมองโดยผู้อื่นในระหว่างทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ นั้นลดลงไป ได้เช่นกัน

3. จำกัดทางเลือก

เมื่อลูกสงสัย และอยากทำอะไร พ่อแม่ต้องลองเรียนรู้ร่วมกันกับลูกด้วย ซึ่งจะได้คำตอบ หรือไม่ได้ ค่อยมาคุย และหาทางออกกันใหม่ แต่ทั้งนี้ไม่ควรตัดโอกาสลูกด้วยคำพูดที่ทำให้ขาดความเชื่อมั่น จนลูกไม่กล้าที่จะคิดอย่างสร้างสรรค์ นั่นจะทำให้เด็กไม่ฉลาด และไม่กล้าแสดงออกในที่สุด อาจตั้งเป็นคำถามปลยาเปิดประลองปัญญาเพื่อให้ลูกคิดหลายคำตอบ หรือการตอบกลับเป็นคำถามเพื่อให้ลูกฝึกคิดได้อย่างไม่มีข้อจำกัด สิ่งเหล่านี้เองก็จะช่วยพลังสมองด้านความคิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์ของลูกได้อย่างเต็มที่

4. บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม

การเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ ได้คิด ได้ลองทำ โดยไม่ถูกตีกรอบด้วยคำพูดที่บอกว่า อย่าทำนะ ห้ามนั่น ห้ามโน่น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งการที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกได้ทดลอง ฉีกกรอบ หรือคิดอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น และร่วมเรียนรู้ หาคำตอบกับลูก ลูกก็จะคิดเป็น และสนุกที่จะเปิดสมองหาความรู้สู่การคิดที่สร้างสรรค์อย่างเต็มที่ต่อไป รวมไปถึงการจัดหาสถานที่ที่มากกว่าในห้องเรียน หรือในบ้าน เพื่อให้เด็กมีลักษณะยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกิจกรรมที่จัดไม่ควรยึดติดอยู่กับรูปแบบ ๆ เดียว และในการจัดตกแต่งสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น ควรมีความแปลกใหม่มีคุณค่า และท้าทายให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงออกอย่างกว้างขวางด้วย เพื่อให้เด็กพร้อมจินตนาการอย่างกว้างไกล

5. กฎเกณฑ์

การที่พ่อแม่เคร่งครัดเรื่องวินัย กดดัน และลงโทษลูก แม้จะเป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม อาจทำให้ลูกไม่กล้าคิด หรือแสดงความคิดเห็นอะไร เพราะกลัวว่าจะถูกดุ หรือถูกลงโทษ อีกทั้งยังรวมไปถึงบ้านที่วางเฉย ไม่สนใจลูก ลูกจะโตเป็นอนาคตของชาติที่ไม่มั่นใจในตัวเอง จนนำไปสู่การคิด และสร้างสรรค์ได้อย่างไม่เต็มที่ กลายเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าเข้าสังคม และคิดไม่เป็นในที่สุด

6. เน้นการเรียน

เพราะความคิดสร้างสรรค์มาจากการที่จะต้องแก้ปัญหา ถ้าไม่สอนให้ลูกมองเห็นปัญหา เด็กก็จะไม่มีวิธีคิดที่จะหาวิธีแก้ อย่างไรก็ดี ความคิดสร้างสรรค์ของลูกจะลดลงเมื่อต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียน หรือถูกเข้าคอร์สเการเรียน และฝึกฝนอย่างหนัก จนสมองไม่มีเวลาพักผ่อน และเพราะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบหลายชั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวปิดกั้นจินตนาการ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ของลูกไปในที่สุด เพราะไม่ได้ออกมาเรียนรู้โลกภายนอกจากห้องเรียน หรือตำราเลย ดังนั้นทางเดียวที่จะทำให้ความสร้างสรรค์ของลูกคงที่ พ่อแม่ต้องช่วยลูก เวลาอยู่ที่บ้าน หรือพาลูกไปเที่ยวเล่นผจญภัยนอกบ้าน พร้อมสอดแทรกวิธีการสอนที่แปลกใหม่ ไม่สอนในแบบที่เคยทำกันมา ก็จะช่วยเปิดสมองลูกให้มีไอเดียดีๆ มีความคอดแปลกใหม่ขึ้นมาได้

ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการปล่อยให้ลูก ๆ เบื่อบ้างก็ได้ เพราะเวลาที่ลูกเบื่อ พวกเขาจะสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดร.เทเรซ่า เบลตัน ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กพบว่าการที่พ่อแม่กระตุ้นให้ลูกทำกิจกรรมมากๆ อาจสกัดกั้นจินตนาการของลูกได้

ตัวอย่างจากนักเขียนชื่อดัง มีร่า ซีอัล และศิลปินดัง เกรย์สัน เพอร์รี่ พวกเขาเกิดความคิดดีๆ ได้เวลาที่รู้สึกเบื่อ ซีอัลบอกว่าความเบื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เธอเขียนหนังสือได้เป็นอย่างดี ส่วนเพอร์รี่บอกว่าเมื่อเขาเบื่อ เขาจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมา “ยิ่งผมแก่ลง ผมก็ยิ่งรู้ว่าช่วงเวลาที่เบื่อๆ นี่แหละ ทำให้ผมสร้างสรรค์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ” เพอร์รี่กล่าว
สำหรับซีอัล ตอนเด็กๆ เธออาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี เธอจึงพูดคุยกับคนไปทั่ว ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ และได้ลองทำสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยคิดอยากจะทำ เช่น การหัดทำขนม เธอมักจะจดไดอารี่อยู่เสมอ และเรื่องราวในไดอารี่นี่แหละที่เธอนำมาเป็นข้อมูลที่ใช้ในงานเขียนเมื่อโตขึ้น
นักประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ศาสตราจารย์ ซูซาน กรีนฟีล เล่าว่าตอนเด็กๆ ครอบครัวของเธอยากจน และเธอเป็นลูกคนเดียว เธอจึงมีความสุขกับการแต่งเรื่องสมมุติในจินตนาการ วาดรูป และไปห้องสมุด
ดร.เบลตันกล่าวว่าพ่อแม่ยุคใหม่กลัวว่าลูกจะเบื่อ จึงคิดหากิจกรรมต่างๆ ให้ลูกทำตลอดเวลา แต่หารู้ไม่ว่าช่วงเวลาที่เด็กๆ ไม่รู้ว่าจะทำอะไร สมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ จะทำงาน เพื่อคิดเรื่องสนุกๆ เช่น ประดิษฐ์สิ่งของ หรือวาดรูป

นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังศึกษาเรื่องผลของการดูโทรทัศน์ การใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และหน้าจอต่างๆ ที่มีต่อเด็ก เพราะสมัยนี้เมื่อเด็กรู้สึกเบื่อ พวกเขาจะหันไปหาหน้าจอต่างๆ ทันที ทำให้การเล่นกลางแจ้งและปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวลดลง การที่เด็กๆ ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับตัวเองเงียบๆ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการโดนจำกัดอยู่เพียงแค่หน้าจอ

อ่านต่อ >> วิธีช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อย” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up