นมรสหวาน

นมรสหวาน เหมาะกับเด็กทารก และเด็กเล็กหรือไม่?

Alternative Textaccount_circle
event
นมรสหวาน
นมรสหวาน

จากเฟสบุ๊คของนักแสดงท่านหนึ่ง ที่โพสต์รูปลูกน้อยที่ยังเป็นทารกวัย 7 เดือนครึ่ง กำลังดูด “นมรสหวาน” อย่างเอร็ดอร่อย เขาชี้แจงว่าเป็นนมกล่องที่คุณแม่ของลูกน้อยทานไว้ก่อนแล้วแบ่งให้ลูกได้ลองดูดนิดหน่อย และเขาเชื่อว่าช็อคโกแลตหวานจะทำให้ลูกอารมณ์ดี

ชมคลิปหนูน้อยดูดนมกล่อง

https://www.facebook.com/apassin/videos/1270359066312645/

หลังจากที่เขาโพสต์คลิปวิดีโอนี้ไปก็กลายเป็นประเด็นดราม่า ว่าจริงๆ แล้วควรที่จะให้เด็กทารกดื่มนมที่มีรสหวานหรือไม่ เฟสบุ๊คเพจ Drama-addict ออกมาแสดงความคิดเห็นดังนี้

นมรสหวาน
เด็กไทยที่บริโภคน้ำตาลมากเกิน และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย

เด็กทารกดื่มนมรสหวานได้หรือไม่?

คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านชอบซื้อนมรสหวานให้ลูกดื่ม เพราะเห็นว่าดื่มง่าย ไม่ต้องคะยั้นคะยอ เหมือนเวลาที่ดื่มนมจืด เด็กบางคนติดใจถึงขนาดดื่มนมเป็นกิจวัตรประจำวัน คุณพ่อ คุณแม่ก็ดีใจ แต่ทราบหรือไม่ว่าในความหวานมีพิษภัยซ่อนอยู่ ผลงานวิจัยจากกองทันตกรรมสาธารณสุขกรมอนามัยระบุว่า นมรสหวานส่งผลเสียกับเด็กเล็กโดยไม่น่าเชื่อ

เด็กๆ ชอบรสหวาน เมื่อได้ดื่มแล้วก็ติดใจ ทั้งๆ ที่นมรสจืด เหมาะสมกับลูกน้อยมากที่สุด เพราะดีต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และฟันผุ แต่ในปัจจุบันมีนมออกมาขายหลากหลายรสชาติ และมีโฆษณาจูงใจเด็ก ทำให้เด็กอยากดื่มนมรสหวานได้ง่าย

ผลเสียจากการดื่มนมรสหวาน

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริญสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มีความเป็นห่วงในสุขภาพของเด็กไทยที่บริโภคน้ำตาลมากเกิน และมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย เช่น ภาวะฟันผุ การมีน้ำหนักเกินในเด็กนักเรียน เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้องรังในผู้ใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

1.ฟันผุ เด็กไทยฟันผุมากถึงร้อยละ 80 พบโรคฟันผุในเด็กเล็กอายุไม่ถึงขวบ ปกติเด็กจะมีฟันน้ำนมขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เด็กกลุ่มนี้ฟันน้ำนมขึ้นมาได้ไม่กี่วันก็ผุเสียแล้ว

2.เป็นโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นประตูใหญ่นำไปสู่โรคร้ายอีกเป็นโขยง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่า โรคหายใจลำบาก เป็นต้น นอกจากโรคอ้วนเด็กบางรายกลับผอมถึงกับขาดอาหาร

3.ติดหวาน เรื่อยไปจนกระทั่งโต ไม่ชอบกินผักผลไม้หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ ติดขนมหวาน น้ำอัดลม และอาหารหวานๆ มันๆ เสียทั้งนิสัยการกิน เสียสุขภาพ และเสียสตางค์

4.เด็กวัย 1-3 ขวบ หากไม่ดื่มนมแม่ และให้ดื่มนมกล่อง หรือนมชงที่มีรสหวาน เด็กๆ ก็จะดื่มนมจืดไม่ได้ ส่วนนมที่มีรสหวานเมื่อมีการแทนที่ด้วยน้ำตาล ปริมาณแคลเซียมก็ลดน้อยลงไปด้วย

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดหวาน?

1.เด็กอายุ ๖ เดือนขึ้นไป จนถึง ๓ ขวบ ควรดื่มนมรสจืดต่อเนื่อง

2.หากลูกติดนมรสหวานแล้ว สามารถเปลี่ยนวิธีการดื่มนมได้ อาจใส่ผลไม้อย่าง มะม่วง กล้วย มะละกอ แตงโม องุ่น หรือถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ข้าวโพด ลงในนมจืด หรือโยเกิร์ตธรรมชาติ

3.ควรให้ลูกน้อยดื่มนมวันละ 2 แก้ว  จะเป็นนมวัว หรือนมถั่วเหลืองก็ได้

4.นมสดใส่น้ำตาลดีกว่านมกล่องรสหวานคือ สดกว่า สารอาหารมากกว่า ใช้ความร้อนในการผลิตน้อยกว่า

5.นมกล่องรสจืดดีกว่านมกล่องรสหวานคือ ไม่มีน้ำตาล แคลอรี่น้อย เสี่ยงโรคอ้วนน้อย เสี่ยงเบาหวานน้อย

ลูกติดหวานแล้วทำยังไงดี?

1.พ่อแม่ตกลงกันแก้ไขพฤติกรรมของลูก ถ้าลูกเริ่มโตและเข้าใจเหตุผลเริ่มจากพูดคุยกับลูกให้ลูกกลับมาดื่มนมจืด ใช้วิธีต่อรอง หรือใช้วิธีลดปริมาณนมหวาน เพิ่มปริมาณนมจืดมากขึ้น

2.กรณีลูกติดนมหวานจนกลายเป็นติดรสหวานในอาหารชนิดอื่นๆ ใช้วิธีค่อยๆ ลดปริมาณลงเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค่อยๆ ปรับตัว ไม่ควรลดฮวบฮาบ เพราะอาจทำให้ลูกปฏิเสธและไม่ยอมให้ความร่วมมือก็ได้

3.พ่อแม่หรือคนปรุงอาหารในบ้านต้องไม่ปรุงอาหารรสหวาน ลดปริมาณรสหวานลง ทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ เขาเห็นทุกคนกินอาหารเหมือนกันหมด ก็จะไม่รู้สึกอะไร จนกลายเป็นความเคยชิน

4.สมาชิกในบ้านต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่แม่ห้ามไม่ให้ลูกกินนมหวาน แต่เวลาไปอ้อนพ่อแล้วพ่อยอม ก็จะทำให้การแก้ไขไม่ได้ผล

5.ต้องจำไว้เสมอว่าการแก้ไข ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก ต้องใช้เวลาและความอดทนของพ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้าน จึงจะสำเร็จ ถ้าทำๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอก็จะไม่ได้ผล

อ่านเพิ่มเติมคลิก ผลวิจัยเผย “นมแม่” ช่วยชีวิตทารก-ลูกฉลาด-พัฒนาเศรษฐกิจไทย

เครดิต: เฟสบุ๊ค A Passin Ruangvuth, เฟสบุ๊คเพจ Drama-addict, pstip.com, taiwisdom.org, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, เฟสบุ๊คเพจ คุณค่าของ นมรสจืด นมรสหวาน, manager.co.th

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up