คุณแม่ลูกหนึ่ง

[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 13] Cloth Diaper ผ้าอ้อมรักลูกและรักษ์โลก

Alternative Textaccount_circle
event
คุณแม่ลูกหนึ่ง
คุณแม่ลูกหนึ่ง

ก่อนลูกน้อยจะลืมตาออกมาดูโลก คุณพ่อคุณแม่มีเรื่องต้องวางแผนเตรียมการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องนอน ขวดนม เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ฯลฯ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องการกินการนอนของลูกก็คือเรื่องการขับถ่าย เพราะเด็กเล็กๆ นั้น กินเมื่อไหร่ก็เป็นได้ฉี่หรืออึเมื่อนั้น ผ้าอ้อมจึงเป็นสิ่งที่ต้องจัดหามาเตรียมไว้เป็นจำนวนมากตั้งแต่แรก

 

ช่วงที่ท้อง ทีแรกผู้เขียนก็เตรียมจะไปซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อดังมาตุนไว้หลายๆ กล่อง แต่พอไปที่ร้านขายของเด็กแถวบ้าน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องมีผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับผ้าอ้อมผ้า (Cloth Diaper) มากมายหลายแบบ หน้าตาน่ารักน่าใช้ และมีรายละเอียดให้เปรียบเทียบด้วยว่าการใช้ผ้าอ้อมผ้านั้นดีกว่าผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้งอย่างไรบ้าง ทำให้ต้องมาศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ แล้วก็ได้พบว่า ตอนนี้คุณแม่ที่พอร์ตแลนด์ตื่นตัวเรื่องการใช้ผ้าอ้อมผ้ากันมาก มีร้านขาย มีคลาสสำหรับคุณแม่ที่สนใจ และมี support group มากมายหลายแห่งให้หาความรู้เปรียบเทียบกันได้เต็มที่

 

พอได้ยินว่าผ้าอ้อมผ้า ทีแรกผู้เขียนก็นึกภาพถึงผ้าสาลูผืนใหญ่ๆ พับทบเป็นชิ้นหนามากลัดเข็มกลัดที่เอวเด็กน้อยเหมือนตอนสมัยเรายังเด็กๆ (ผู้เขียนเห็นรูปตัวเองตอนเด็กๆ ก็ใส่ผ้าอ้อมผ้าแบบที่ว่านี้) แต่ผ้าอ้อมผ้าสมัยใหม่พัฒนาไปเยอะเลยค่ะ แบบที่ผู้เขียนเลือกให้ลูกนั้น มีกางเกงด้านนอกเป็นลายน่ารัก กันน้ำได้ในระดับหนึ่ง และมีแผ่นรองซับเป็นผ้าฝ้ายไม่หนาเกินไป แต่ซึมซับของเหลวได้ดี ติดกระดุมแป๊กถอดออกไปซักเฉพาะชิ้นในได้ สะดวกสบายดีแท้

 

สาเหตุหลักๆ ที่ต้องคิดเยอะก็เพราะผ้าอ้อมผ้า (โดยเฉพาะที่ทำด้วยผ้าฝ้ายหรือเส้นใยอินทรีย์) นั้นราคาไม่ใช่ถูกๆ เลย ถ้าซื้อทั้งชุด (คือมีกางเกง 10 ตัวและแผ่นรองซับประมาณ 2 โหล พอจะใช้ไปได้ 2-3 วันก่อนนำไปซัก) ก็ตกราวๆ 400 เหรียญ (หมื่นกว่าบาท) ถือว่าเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ทีเดียว แต่เทียบแล้วก็ยังถูกกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป (ซึ่งก็ไม่ใช่ถูกๆ โดยเฉพาะแบบที่ใช้วัสดุธรรมชาติ) หลายเท่า และถ้ามีลูกคนต่อไปก็ประหยัดขึ้นอีก

 

มีคนลองคำนวณดูแล้วพบว่ากว่าเด็กจะโตจนเข้าห้องน้ำเองได้นั้น ต้องใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปหลายหมื่นชิ้น คิดออกมาแล้วก็เป็นเงินประมาณ 1,500 เหรียญ (ราวห้าหมื่นบาท) แพงกว่าผ้าอ้อมผ้าถึงห้าเท่าทีเดียว และลองคิดดูว่าผ้าอ้อมใช้แล้วเหล่านั้น จะกลายเป็นภาระที่กองขยะมากมายขนาดไหน เฉพาะในอเมริกาเองนั้น มีผ้าอ้อมที่ถูกทิ้งปีละถึง 20,000 ล้านชิ้น!

 

และที่น่าตกใจกว่าก็คือผ้าอ้อมเหล่านั้นกว่าจะย่อยสลายก็ใช้เวลาเกือบห้าร้อยปี! แถมไวรัสจากอุจจาระในผ้าอ้อมเด็กอาจจะซึมลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ตามมา ผู้เขียนฟังมาถึงตรงนี้ ใจก็เอนเอียงไปทางผ้าอ้อมผ้าครึ่งหนึ่งเข้าไปแล้ว ยิ่งพอได้ยินว่าเด็กที่ใส่ผ้าอ้อมผ้าจะเป็นผื่นน้อยกว่า เพราะไม่อบเหมือนผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่บุด้วยกระดาษและพลาสติก และจะหัดนั่งกระโถนได้ง่ายกว่าเพราะรู้จักแยกแยะความรู้สึกเปียกชื้นได้เอง ผู้เขียนเลยตัดสินใจลงทุนซื้อผ้าอ้อมผ้าชุดใหญ่มาเตรียมไว้ เป็นแบบปรับขนาดให้โตตามลูกน้อยได้ และตรงเอวเป็น velcro เพราะกะว่าลูกดิ้นไปมาก็จะง่ายกว่าต้องไล่ติดกระดุมแป๊ก ทดลองหัดใส่กับตุ๊กตาอยู่หลายรอบ กะว่าลูกน้อยเกิดมานี่ต้องพร้อมแน่ๆ

 

เอาเข้าจริง เดือนแรกแทบไม่ได้ใช้เลยค่า ! เพราะว่าเพิ่งฟื้นตัวจากการคลอด และเพิ่งสำนึกว่าการเป็นคุณแม่มือใหม่ในต่างแดน ไม่มีญาติโยมหรือพี่เลี้ยงมาช่วย อยู่กันสามคนพ่อแม่กับลูกที่ร้องทั้งวันทั้งคืนนั้นมันเหนื่อยแสนสาหัส จะให้มาซักและอบผ้าอ้อม (ที่นี่มีแดดแค่ช่วงหน้าร้อน ส่วนใหญ่จึงต้องใช้เครื่องอบผ้า ) ต้องตายแน่ๆ ช่วงแรกๆ จึงใช้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป จนอะไรๆ เริ่มเข้าที่เข้าทาง ผู้เขียนเลยเริ่มต้นใช้ผ้าอ้อมผ้าที่ซื้อไว้ แรกๆ ก็รู้สึกว่ามันยุ่งยากและเหนื่อยดีแท้ แต่พอเริ่มจัดระบบได้ คือรู้แล้วว่าต้องซักผ้าอ้อมทุกๆ 2 วัน และต้องแช่ ซัก อบอย่างไร ก็สบายขึ้น

 

สิ่งที่ต้องยอมรับคือผ้าอ้อมผ้านั้นพอเปียกก็ต้องเปลี่ยนทุกครั้งเพราะลูกรู้สึกได้ ไม่เหมือนผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ “แห้งสบาย” ฉี่หลายรอบลูกก็ยังไม่ร้อง ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ดื้อดึงว่าจะต้องใช้แต่ผ้าอ้อมผ้าเท่านั้น เวลาออกไปข้างนอกและนอนตอนกลางคืน ก็ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปผสมกัน เพราะสะดวกกว่า และทำให้ลูกนอนหลับได้นานขึ้น แต่ถ้าเทียบแล้ว ก็ใช้ผ้าอ้อมผ้าเป็นส่วนใหญ่

 

ตอนนี้ลูกสาวผู้เขียนอายุเกือบสองขวบแล้ว ไม่เคยเป็นผื่นผ้าอ้อมเลยค่ะ ผ้าอ้อมที่ผ่านการซักและอบมาเป็นร้อยครั้งก็ยังอยู่ในสภาพดีมาก ถ้าผู้เขียนมีลูกอีกคนก็ไม่ต้องลงทุนซื้อใหม่เลย

 

มีหลายคนเถียงว่าเทียบความเหนื่อยกับค่าน้ำค่าไฟที่ต้องซักแล้ว ผ้าอ้อมผ้าอาจจะไม่ได้ “ถูกกว่า” อย่างที่หลายๆคนเชื่อ (ที่นี่มีบริการซักผ้าอ้อมด้วยค่ะ โดยเขาจะเอาผ้าอ้อมสะอาดชุดแรกมาให้ก่อน จากนั้นทุกสัปดาห์ก็จะมารับผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว พร้อมทั้งเอาชุดใหม่ที่สะอาดมาเปลี่ยนให้ มีคนบอกว่าซักผ้าอ้อมจำนวนมากแบบนี้ประหยัดกว่าซักเองที่บ้าน แต่ก็ต้องเสียค่าบริการอยู่ดี (สำหรับแผ่นรองซับ 70 ชิ้นต่อสัปดาห์ ค่าบริการตกประมาณเดือนละ 2,500 บาท)

 

ผู้เขียนคิดว่าเมื่อเทียบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในกระบวนการผลิตและกระบวนการกำจัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปแล้ว ยังไงผ้าอ้อมผ้าก็ยังดีกว่า ยิ่งคุณแม่เมืองไทยจำนวนมากมีคนช่วยทำงานบ้าน แถมแดดบ้านเราก็แรง ตากผ้าอ้อมแห้งไวไม่ต้องเปลืองค่าอบ และยังช่วยฆ่าเชื้อกำจัดกลิ่นไปในตัวด้วย ผ้าอ้อมผ้าน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดมลภาวะ ประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ผิวอันบอบบางของลูกน้อยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีตลอดเวลาอีกด้วย

 

ได้รักทั้งลูก และรักษ์โลกไปพร้อมกันวันละหลายรอบเลยล่ะค่ะ

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up