[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 12] Outdoor Parenting เลี้ยงลูกนอกบ้าน

Alternative Textaccount_circle
event

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ของคุณหมอโอ๋ เภสัชกรขิม และน้องพลอย มัลลิกะมาส แล้วก็รู้สึกดีใจที่มีคนชักชวนกันพาลูกน้อยออกไปเผชิญโลกกว้าง เพราะผู้เขียนและสามีนั้นให้ความสำคัญกับการพาลูก “ออกไปข้างนอก” กับเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จะว่าไปแล้ว ก็อาจจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ที่พอร์ตแลนด์ทำกันจนเป็นเรื่องปกติก็ว่าได้ ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหลักๆ ก็คือคนส่วนใหญ่ที่ย้ายมาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกานั้น รักธรรมชาติและชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเดินป่า ปีนเขา แคมปิ้ง หรือแม้แต่ไปสวนสาธารณะใกล้ๆ บ้าน ผู้เขียนสังเกตว่าชาวตะวันตกนั้นเชื่อในการให้ลูกได้เรียนรู้โลกกว้างและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก โตขึ้นจะได้มีความกล้าหาญที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง

 

อีกเหตุผลที่สำคัญคือคนที่นี่ชอบย้ายบ้านย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย การย้ายข้ามทวีปหรือข้ามรัฐไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด แต่ละรัฐก็อยู่ห่างไกลกัน ส่วนใหญ่ครอบครัวจึงเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่มีปู่ย่าตายายหรือญาติๆ มาช่วยเลี้ยงดูหลาน ค่าจ้างพี่เลี้ยงที่นี่ก็แพงมาก (ชั่วโมงละ 350-500 บาท) พ่อแม่จึงต้องเลี้ยงลูกเอง จะไปไหนก็ต้องพาลูกไปด้วยตามที่สาธารณะจึงมีกิจกรรมที่เป็นมิตรกับเด็กๆ และครอบครัว (การให้นมในที่สาธารณะถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฏหมายเลยทีเดียว) ผู้คนก็เห็นว่าการพาเด็กเล็กๆ ออกมาข้างนอกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จึงให้ความเอ็นดูและยิ้มแย้มเอื้ออาทรต่อกัน ผู้เขียนรู้สึกว่าการที่ขาดครอบครัวจริงๆ ของตัวเองนั้น ทำให้ผู้คนเปิดใจกว้างและพยายามพูดคุยหรือทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น

 

ตอนลูกยังเล็กมากๆ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะเอาลูกออกไปไหนต่อไหนดีหรือเปล่า แต่คุณสามีแกไม่สนใจ อุ้มลูกไปเดินเล่นตั้งแต่ยังอายุได้ไม่ถึงสองอาทิตย์ หนูเมตตาแกก็ดูจะเพลิดเพลินดี ผู้เขียนเองก็เลยได้ผ่อนคลายไปด้วย คุณหมอเด็กของครอบครัวเราบอกว่า เด็กทารกนั้นมีความสามารถในการปรับตัวสูงกว่าที่เราคิด และต้องแข็งแรงมากถึงในระดับหนึ่งจึงเกิดและมีชีวิตรอดออกมาได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลจนเกินไป พาลูกไปไหนต่อไหนได้ (เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้เป็นที่แออัดหรืออึกทึกครึกโครมมากจนเกินไป ถ้าเป็นสถานที่ใกล้ชิดธรรมชาติก็จะดีที่สุด ) ไม่อย่างนั้นจะเบื่อกันแย่ทั้งแม่และลูก ถ้าต้องอยู่แต่ในบ้านทั้งวันทั้งคืน

 

ได้ยินอย่างนั้นผู้เขียนก็โล่งใจ เลยเริ่มต้นมองหากิจกรรมที่จะอุ้มลูกไปร่วมด้วย แล้วก็ได้พบว่ามีเยอะแยะไปหมดจนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว นอกจากเว็บไซต์ที่รวบรวมปฏิทินกิจกรรมต่างๆ มาไว้ด้วยกันอย่าง Red Tricycle หรือ PDX Kids Calendar แล้ว ก็ยังมีนิตยสารแจกฟรีอีกมากมาย อย่างเช่น Metro Parent หรือ NW Kids ช่วงแรกที่ลูกยังเล็กมาก ผู้เขียนเลือกไปกิจกรรมเบาๆ ก่อน เพราะสังเกตได้ว่าลูกจะไม่ชอบที่ที่มีเสียงดังเกินไปหรือมีไฟแข็งๆ สว่างๆ รอให้ลูกเริ่มโตขึ้นอีกหน่อย คือประมาณ 6-9 เดือน จึงเริ่มไปเข้าชั้นเรียนดนตรี (Music Together), ชั้นเรียนภาษามือ (Sign Language) หรือกิจกรรมที่มีสิ่งกระตุ้นและเน้นการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นหลังจากขวบครึ่ง อย่างเช่น Puppet Show หรือคอนเสิร์ตต่างๆ

 

กิจกรรมที่น่ารักและผู้เขียนอยากพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ Baby Mornings ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของพอร์ตแลนด์(Portland Art Museum) สำหรับคุณแม่และหนูน้อยแรกเกิดถึง 1 ขวบ ที่ผู้เขียนพาลูกสาวไปร่วมด้วยทุกเดือน ที่ชอบมากเพราะแต่ละเดือนจะมีหัวข้อแตกต่างกันไป อย่างเช่น อิมเพรสชั่นนิสม์ ภาพเหมือน (Portraits) ภาพทิวทัศน์(Landscape) ฯลฯ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์เป็นคนนำกิจกรรม และทำให้เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณพ่อคุณแม่คนอื่นๆ ที่อุ้มลูกน้อยมาเดินดูงานศิลปะด้วยกัน ถึงแม้ลูกจะยังเล็กมาก แต่ผู้เขียนก็เชื่อว่าการได้เปิดโอกาสให้ลูกได้ซึมซับบรรยากาศของงานศิลปะย่อมจะดีต่อเซลล์สมองน้อยๆ ของแกเป็นแน่

 

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ดีมากเช่นกัน คือ Book Babies และ Toddler Storytime ที่ห้องสมุด เป็นกิจกรรมฟรี มีหลายวันต่อสัปดาห์ (เพราะว่าห้องสมุดที่พอร์ตแลนด์มีนับสิบสาขา กระจายอยู่ทั่วไปในแต่ละชุมชน) แต่ละครั้งความยาวประมาณ 45 นาที มีคุณบรรณารักษ์เป็นคนนำร้องเพลง เล่นเกม และอ่านหนังสือเด็กด้วยกัน เราสองแม่ลูกชอบมากเพราะบรรยากาศสบายๆ และปลูกฝังให้เด็กๆ รักหนังสือและรักการไปห้องสมุด เมตตาเองมีบัตรสมาชิกตั้งแต่อายุได้แค่ 2 สัปดาห์ และได้รับหนังสือสำหรับเด็กจากห้องสมุดมา 4 เล่ม ล้วนแต่เป็นหนังสือดีๆ ที่เราหยิบมาอ่านเสมอๆ ผู้เขียนชื่นชมห้องสมุดที่นี่มาก เพราะว่ามีหนังสือและภาพยนตร์ในฐานข้อมูลหลากหลายครบถ้วนจริงๆ มุมหนังสือเด็กเล็กนั้นมีหนังสือแทบทุกเล่มที่ตีพิมพ์ในอเมริกา สามารถยืมกลับบ้านได้คราวละเกือบสิบเล่ม ทำให้เราประหยัดค่าหนังสือไปได้มาก และลูกสาวผู้เขียนตื่นเต้นกับการไปห้องสมุดอย่างเห็นได้ชัด

 

ล่าสุดเราพบว่ามีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้ได้ออกไปสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติอย่างสนุกสนาน ชื่อว่า Ladybug Walk จัดขึ้นโดย Portland Parks & Recreation (หน่วยงานที่ดูแลสวนสาธารณะและกิจกรรมต่างๆ) สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ทุกเช้าวันศุกร์ เราจะรวมตัวกันที่สวนสาธารณะ (ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้เราได้เห็นระบบนิเวศน์ที่แตกต่างกันไป) แล้วมีเจ้าหน้าที่แจกเป้รูปเต่าทองใบน้อยๆ ให้หนูๆ สะพาย ข้างในบรรจุอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เช่น แว่นขยาย ช้อนตักดิน กล่องพลาสติกใส่แมลง ฯลฯ จากนั้นก็พานักสำรวจจิ๋วและผู้ปกครองออกเดินป่า ทำความรู้จักกับต้นไม้ แมลงต่างๆ บางครั้งก็เจอเห็ดเจอตัวอะไรแปลกๆ เรียกเสียงหัวเราะกิ๊กๆ กั๊กๆ จากเด็กๆ ได้ตลอดทาง

 

ส่วนตัวผู้เขียนอยากมอบโล่ห์ให้กับ PP&R มาก เพราะนอกจากจะดูแลสวนสาธารณะได้ดี มีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นปลอดภัยให้เด็กๆ ได้ไปเล่นอยู่ทั่วเมืองแล้ว (พอร์ตแลนด์มีสวนสาธารณะเกือบ 300 แห่ง!) ยังมี community center ที่มีกิจกรรมกีฬาสำหรับทุกคนในครอบครัว ผู้เขียนพาลูกสาวไปว่ายน้ำ เล่นฟุตบอล (สำหรับเด็กเล็ก ชื่อคลาสน่ารักว่า Tiny Tots Soccer) เล่นกีฬาต่างๆ ในราคาถูกแสนถูก ช่วงฤดูร้อนยังมีคอนเสิร์ตและหนังกลางแปลงในสวน ให้เราไปปูเสื่อปิกนิกกันได้ทุกสัปดาห์ เอาเป็นว่าตลอดปีมีอะไรให้ทำแบบแทบไม่ต้องเสียสตางค์เลยก็แล้วกัน

 

คุณพ่อคุณแม่ที่ยังกลัวๆ กล้าๆ ไม่รู้ว่าเอาลูกออกนอกบ้านจะปลอดภัยหรือดีกับเด็กไหม ผู้เขียนขอยืนยันค่ะว่าดีต่อทั้งลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่แน่นอน เพียงแต่เลือกกิจกรรมที่ปลอดภัยและเหมาะสม มีความหลากหลาย และใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะสิ่งต่างๆ ที่เด็กซึมซับนั้นมีผลโดยตรงต่อสมองและความคิดของพวกเขา ถ้าอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นคนที่แข็งแรง มีความสนใจรอบด้าน รักธรรมชาติ และรักผู้อื่น ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ให้เขาได้รู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลกที่ดีงามนะคะ

 

บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up