[แม่อุ้ม-น้องเมตตา 06] Baby-led Weaning หนูกินเองได้จ้ะ… แม่ไม่ต้องป้อน

Alternative Textaccount_circle
event

หลังจากให้นมลูกมาหลายเดือน คุณแม่หลายคน (และหลายคนรอบๆ ตัวคุณแม่) คงเริ่มสงสัยว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาให้อาหารอื่นๆ แก่ลูกน้อย และจะให้ลูกเริ่มกินอะไรก่อนดี รวมทั้งกรณีคลาสสิกที่ต้องตอบคำถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะ “หย่านม” ลูกเสียที

 

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยได้ยินมาว่าควรให้ลูกเริ่มจากกินกล้วยน้ำว้าหรือไม่ก็ข้าว (หรือผักผลไม้อื่นๆ) บด โดยคุณแม่เป็นคนป้อนทีละช้อนเล็กๆ แต่พอตอนไปเข้ากลุ่มคุณแม่มือใหม่ (New Moms Group) ที่พอร์ตแลนด์ ก็ได้ยินคนพูดถึงการให้ลูกหัดกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ และให้หยิบอาหารกินเองโดยแม่ไม่ต้องป้อน หรือที่เรียกว่า Baby-led Weaningคือให้ลูกมีส่วนร่วมในกระบวนการหย่านม ไม่ใช่แม่เป็นคนตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว

 

ได้ยินอย่างนั้นผู้เขียนก็หูผึ่ง เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่าคำว่า “หย่านม” เป็นคำที่ค่อนข้างจะรุนแรงเด็ดขาด และมีความหมายในทางลบไปสักหน่อย พอได้ยินว่ามีวิธีการที่ค่อยเป็นค่อยไป เป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งสนุกได้ทั้งแม่และลูกแบบนี้ มีหรือจะไม่ลองศึกษาดูสักหน่อย

 

หลังจากอ่านหนังสือทั้ง 2 เล่มของคุณ Gill Rapley (อดีตพยาบาลผดุงครรภ์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นคนคิดคำว่า Baby-led Weaning และนำเสนอวิธีการนี้จนได้รับการสนับสนุนจากคุณแม่ทั่วโลก) รวมทั้งพูดคุยกับแม่ๆ คนอื่นๆ จนแน่ใจ ผู้เขียนก็ลองเริ่มต้นให้ลูกสาว (ตอนนั้นอายุ 6 เดือนและกินแต่นมแม่อย่างเดียวมาตลอด) มานั่งที่โต๊ะกินข้าวกับพ่อแม่ ตอนแรกผู้เขียนจับหนูน้อยนั่งตัก แล้วยื่นอาหารที่เป็นชิ้นๆ ให้แกลองเล่นดู เพราะลูกสาวผู้เขียนเริ่มเอาของต่างๆ ที่ไม่ใช่อาหารใส่ปากมาได้พักใหญ่แล้ว พอผู้เขียนเอาอาหารใส่มือ แกก็จับใส่ปากโดยไม่ลังเล แถมทำหน้าตื่นเต้นที่ได้พบรสชาติแปลกใหม่ เลยเล่นไปดูไปอยู่พักใหญ่ทีเดียว

 

เราลองทำแบบนี้อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งแกเริ่มนั่งเองได้โดยไม่ต้องมีคนคอยจับ จึงย้ายให้ไปนั่งใน high chair แล้ววางอาหารทีละสองสามอย่างให้ลอง แรกๆ นั้นส่วนใหญ่หนูน้อยเพียงแต่เล่น ไม่ได้กินจริงจัง แต่เพียงไม่กี่เดือน ลูกสาวผู้เขียนก็กินอาหารเก่งและกินได้หลากหลายมาก พ่อแม่ไม่เคยต้องป้อนและไม่ต้องเตรียมอาหารพิเศษ เพราะแกกินอาหารเหมือนกับที่พ่อแม่กิน (เราต้องลดเกลือและน้ำตาลลง) เลยสนุกกันจริงๆ อย่างที่เขาว่า ลูกสนุกที่ได้ลองรสชาติและสัมผัสใหม่ๆ ส่วนพ่อแม่สนุกที่ได้ดูลูกเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองและทำอะไรตลกๆ น่าเอ็นดูระหว่างกินอาหารด้วยกัน

 

คำถามสำคัญที่หลายๆ คนถามก็คือ เด็กยังไม่มีฟันจะเคี้ยวได้อย่างไร และไม่กลัวลูกสำลักหรือ สำหรับคำถามแรก ขอตอบว่าเหงือกของหนูน้อยนี่เคี้ยวอะไรได้เยอะอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะค่ะ (แต่ตอนแรกๆ อาจจะต้องให้อาหารที่ค่อนข้างนิ่มสักหน่อย) ส่วนคำถามที่สอง ผู้เขียนตอบได้จากประสบการณ์ตรงเลยว่า เด็กที่หัดกินอาหารเองจะสำลักน้อยมาก (ลูกสาวผู้เขียนไอแค่กๆ บางครั้ง แต่นั่นเป็น gag reflex ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันอาหารไม่ให้ตกลงไปในหลอดลม และเกิดขึ้นตื้นมากในช่องปาก พอหนูน้อยกลืนเก่งขึ้นก็จะ gag น้อยลง เป็นคนละอย่างกับการสำลักหรือ choke ซึ่งคือการที่อาหารเข้าไปอุดหลอดลมทำให้หายใจไม่ออก)

 

คุณ Gill อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างเข้าใจง่ายว่าพัฒนาการด้านการกินอาหารของเด็กเล็กๆ นั้นจะเริ่มจากทักษะในการหยิบสิ่งของต่างๆ ใส่ปากก่อน แล้วพัฒนาไปสู่การเคี้ยว ซึ่งควบคู่ไปกับการใช้ลิ้นเคลื่อนอาหารไปมาในช่องปาก จากนั้นจึงตามมาด้วยการเคลื่อนอาหารที่เคี้ยวแล้วลึกเข้าไปสู่ด้านหลังของลิ้น และกลืนลงคอในที่สุด ถ้าเราให้ลูกได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ตามจังหวะของเขาเอง โอกาสที่ลูกจะสำลักก็เป็นไปได้น้อยมาก ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับการป้อนอาหารบดด้วยช้อน ซึ่งข้ามขั้นตอนไปสู่การกลืนก่อนที่เด็กจะหัดเคี้ยว เด็กจะดูดอาหารที่ป้อนเข้าไปถึงคอทันทีเหมือนกับการดูดนม แต่อาหารบดมีความข้นกว่านมทำให้มีโอกาสสำลักได้ง่ายกว่ามาก ยิ่งพอเริ่มจะให้ลองอาหารที่เป็นชิ้นๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสสำลักมากกว่าถ้าไม่ได้หัดเคี้ยวและกลืนมาก่อน

 

ผู้เขียนเห็นมากับตา ลูกสาวของเพื่อนที่กินแต่อาหารบดมาตลอด วันหนึ่งแม่ลองเอา rice puff ชิ้นเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยให้กิน หนูน้อยสำลัก พัฟเข้าไปติดคอหายใจไม่ออก แม่ต้องจับคว่ำตบหลัง เล่นเอาใจหายใจคว่ำกันไปทั้งห้อง เด็กคนเดียวกันนี้ ทุกวันนี้กลายเป็นเด็กกินยาก และไม่ยอมกินผักที่ต้มหรือนึ่งมาเป็นชิ้นๆ และกินอาหารอยู่เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นเอง

 

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการให้เด็กเล็กเรียนรู้ที่จะหยิบอาหารกินเองนั้น สอดคล้องอย่างยิ่งกับการกินนมแม่เพราะเวลาที่เด็กดูดนม เด็กจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะกินมากน้อยแค่ไหน และจะหยุดเองเมื่ออิ่ม ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับ Baby-led Weaning หน้าที่ของแม่ก็คือการเตรียมอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบถ้วนไว้ให้พร้อม ซึ่งหมายถึงนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นก็คือนมแม่และอาหารที่กินกันในครอบครัวนั่นเอง

 

ผู้เขียนนั่งดูลูก “เลือก” กินจากอาหารที่วางไว้ให้หลายๆ อย่างแล้วก็รู้สึกว่าน่าสนใจมากๆ เช่น ช่วงที่เด็กกำลังต้องการธาตุเหล็กมากเป็นพิเศษ ลูกสาวผู้เขียนจะชอบกินผักใบเขียว แล้วตามด้วยส้มหรือผลไม้เปรี้ยว ซึ่งอุดมด้วยวิตามินซี ที่ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก! ช่วงไหนที่มี growth spurt หรือร่างกายกำลังโตเป็นพิเศษ แกจะชอบกินโปรตีน เช่น ไข่ เห็ด ปลา หรือไก่ (ถึงผู้เขียนเป็นมังสวิรัติ แต่ก็ไม่ได้จำกัดให้ลูกต้องเป็นมังสวิรัติด้วย เพียงหนูเมตตาไม่ชอบกินเนื้อหมูหรือเนื้อวัวเอง แม้จะให้ลองชิมหลายครั้งแล้วก็ตาม)

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นก็คือ ลูกสาวผู้เขียนไม่ปฏิเสธอาหาร และชอบของที่มีรสชาติ ซึ่งสอดคล้องกับความจริงที่ว่า นมแม่นั้นมีรสชาติแตกต่างกันไปตามอาหารที่แม่กินในแต่ละมื้อหรือแต่ละวัน (ต่างจากนมผงซึ่งมีรสเดียวเสมอ) ดังนั้นเด็กที่กินนมแม่จึงคุ้นเคยกับรสชาติต่างๆ และกล้าลองอาหารหลากหลายชนิด (หนูเมตตาลองชิมแม้กระทั่งมะระต้ม!) ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเด็ก การได้ “เล่น” และเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าเจ้าอาหารหน้าตารูปร่างแบบนี้ รสชาติจะเป็นยังไง ย่อมสนุกกว่ากินอะไรไม่รู้ปั่นรวมกันมาเนียนๆ แถมมีแต่คนป้อน ไม่ได้หยิบจับเข้าปากเองเสียอีก จริงไหมล่ะคะ

 
บทความโดย: สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนางเอกและพิธีกร ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทบ้านอุ้ม สำนักพิมพ์โอโอเอ็ม และเลี้ยงหนูน้อยเมตตาอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรก้อน สหรัฐอเมริกา

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up