ชิม+ช้อป+ชิล ที่ เอเชียทีค เดอะ รีเวอร์ฟร้อนท์

Alternative Textaccount_circle
event

นอกจากจะมีวิวริมน้ำชนิด 180 องศาไว้ให้เสพแล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งแฮงค์เอ้าท์ และย่านช้อปปิ้งขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯทั้งหมดนี้อยู่ใต้ร่มเงาตัวอาคารที่ก่อสร้างมากว่า 100 ปี ของบริษัท อีสท์ เอเชียติก และด้วยความเก๋า ผนวกกับความทันสมัยขนาดนี้นี่เอง ทำให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน อเมซิ่งไทยแลนด์ (Amazing Thailand) แห่งใหม่ล่าสุด

 

IMG_4248

ความเป็นมา เป็นไป ของบริษัท อีสท์ เอเชียติก

ในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศในแถบเอเชียถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจจากยุโรป แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ที่อยากจะพัฒนาประเทศให้เจริญรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก โดยก่อกำเนิดท่าเรือบริษัท อีสท์ เอเชียติก ขึ้นเพื่อค้าไม้สัก มีนายฮันส์ นิลล์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์กเป็นเจ้าของ จึงมีการสร้างท่าเรือขนถ่ายสินค้า ณ บริเวณนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นเปิดประตูการค้าสากลระหว่างสยามประเทศและยุโรป จนเป็นจุดสำคัญที่ทำให้สยามดำรงความเป็นเอกราชมาได้จวบทุกวันนี้ และด้วยแนวคิดที่ว่า Festival Market and Living Museum ของเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ นี้เอง จึงมีการเก็บรวบรวม และรักษาโครงสร้างต่างๆไว้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จักความเป็นมาเป็นไปของประศาสตร์ไทยในสมัยก่อน

 

IMG_4329

 

 

ของเก่า 7 อย่างน่าชม

1.รถราง ในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามเป็นชาติแรกที่ให้บริการรถราง สายแรกคือสายบางคอแหลม หลักเมือง-ถนนตก แล่นผ่านหน้าบริษัท อีสต์เอเชียติก และวัดพระยาไกร โดยให้บริการด้านหน้า 10 สตางค์ ข้างหลัง สลึงเดียว ที่คิดแบบนี้เพราะด้านหน้ามีเบาะปูอย่างดี ซึ่งภายในท่าเรือ อีสท์ เอเชียติก มีการใช้รถรางในการขนส่งด้วย จะเห็นได้จากรางรถที่หลงเหลืออยู่ในหลายๆโซน

2.หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลก อยู่ริมถนน ย่านเจริญกรุง ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (2484 – 2488) กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ายึดคลังสินค้าของบริษัท อีสต์เอเชียติก ไว้เป็นฐานกำลังและคลังแสง ซึ่งในพื้นที่คลังสินค้าเดิมยังพบเศษขี้พลอย จึงเชื่อได้ว่า ทหารญี่ปุ่นขนพลอยจากกาญจนบุรีมาไว้ที่นี่

3.โรงเลื่อยเก่า ย่านโรงงาน แถวโกดัง 5 ยังคงรักษารูปแบบและโครงสร้างหลังคาเก่าไว้อย่างครบถ้วน

4.เครนโรงเลื่อย ย่านโรงงาน แถวโกดัง 10 ที่แม้ผ่านกาลเวลาและการใช้งานมาอย่างหนัก แต่ก็ยังคงอยู่สภาพสมบูรณ์

5.ซุ้มโค้งโกดังสินค้า 100 ปี ย่านริมน้ำ จุดเด่นสำคัญของ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์

6.ท่าเรือประวัติศาสตร์ ย่านริมน้ำ ท่าเรือแห่งแรกที่นำความเจริญจากนานาประเทศเข้ามา เพราะเรือทุกลำต้องเข้ามาเทียบก่อนเข้าสู่แผ่นดินไทย

7.ปั่นจั่นยกของริมน้ำ ย่านริมน้ำ ชวนให้นึกย้อนไปถึงช่วงการค้าที่รุ่งเรือง เฟื่องฟู นอกจากแหล่งวัตถุโบราณเหล่านี้แล้ว ยังเสริมเพิ่มเติมความเป็นไปในยุคสมัยนั้น ด้วยรูปหล่อโลหะตามจุดต่างๆ เช่น รถลาก หรือ รถเจ็ก ย่านเจริญกรุง ที่บอกเล่าเรื่องราวว่าในยุคสมัยนั้น เป็นยานพาหนะของผู้มีอันจะกิน และการที่เรียกเล่นๆว่า รถเจ็ก เป็นเพราะมีแต่คนจีนเท่านั้นที่ทำอาชีพนี้

 

IMG_4380

 

 

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ แบ่งออกเป็น 4 โซน

ย่านเจริญกรุง –ชาวต่างชาติชอบย่านนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเต็มไปด้วยร้านขายของที่ระลึก และของตกแต่งบ้านมากมาย แต่นอกเหนือจากนั้นย่านนี้ยังมีของสวยๆงามๆให้ชม อย่าง โจหลุยส์เธียเตอร์ และ คาลิปโซ่ แบงกอก อีกด้วย

ย่านกลางเมือง – อยากชมการแสดงต่างๆ ต้องที่นี่ เขามีกิจกรรมมานำเสนอกันเพียบ

ย่านโรงงาน –อยากทานอาหารกับครอบครัวต้องย่านนี้ เขายกร้านดังๆจากทั่วทุกมุมในกรุงเทพฯ มาตั้งไว้ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีร้านเสื้อผ้าเก๋ๆให้เลือกช็อปอีกด้วย

ย่านริมน้ำ – อยากมาแฮงค์เอ้าท์ พร้อมชมวิวงามๆของแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องมานั่งชิลล์กับร้านสไตล์บาร์ แอนด์ บิสโทร ที่มีให้เลือกมากมาย แต่ถ้าไม่ แนะนำให้เดินชมวิวไปเรื่อยๆตามทางเดินริมน้ำที่การันตีว่ายาวที่สุดกว่า 300 เมตร

เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เปิดบริการ ทุกวัน ตั้งแต่ 17.00-24.00 น. (ร้านอาหารย่านเจริญกรุง ที่ติดริมถ.เจริญกรุง เปิดบริการตั้งแต่ 11.00 น.) การเดินทาง รถยนต์ มีจุดจอดรถสองฝั่ง ทั้งด้านในเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ และฝั่งตรงข้าม (ในช่วงเย็นวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ค่อนข้างหายาก และรถติดมาก แนะนำให้มาทางเรือจะดีที่สุด) ทางเรือ สามารถใช้บริการเรือฟรีจากท่าเรือสะพานตากสิน หรือใช้เรือจากโรงแรมต่างๆ ก็ได้ แต่สำหรับโรงแรม อนันตรา กรุงเทพฯ รีสอร์ท แอนด์ สปา บุคคลทั่วไป (ที่ไม่ใช้บริการโรงแรม) สามารถโดยสารได้ฟรีค่ะ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.asiatiquethailand.com หรือ Facebook: Asiatique.Thailand

บทความโดย : กองบรรณาธิการ

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up