รู้จักโรค ต่อม อดีนอยด์ และ ต่อมทอนซิลโต

Alternative Textaccount_circle
event

ต่อมอดีนอยด์ (อยู่ด้านหลังของโพรงจมูก) และต่อมทอนซิลเป็นส่วนของร่างกายซึ่งมีเม็ดเลือดขาวอยู่เป็นจำนวนมากทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายทางบริเวณช่องจมูกและปาก วัยเด็กมีโอกาสติดเชื้อได้บ่อย สองต่อมนี้จึงมีขนาดใหญ่กว่าช่วงวัยอื่น ผู้ที่มีปัญหาติดเชื้อหวัดบ่อยจะมีปัญหาต่อมโตมากจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
– หูอักเสบ ไซนัสอักเสบซ้ำซาก เนื่องจากต่อมที่โตจะไปกีดขวางช่องทางที่เชื่อมต่อกับหูชั้นกลางและโพรงไซนัส ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเมื่อติดเชื้อบ่อย ต่อมก็จะยิ่งโตขึ้น
– ขัดขวางทางเดินหายใจ ทำให้หายใจเสียงดัง นอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ เพราะเมื่อเริ่มหลับลึก ลิ้นจะตกลงไปอุดทางเดินหายใจซึ่งแคบมากอยู่แล้ว เมื่อสมองได้รับออกซิเจนน้อยลงจึงตื่นบ่อย ส่งผลต่อการทำงานของสมองและความจำ ทำให้ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) หลั่งน้อยเรียนหนังสือไม่ดี พฤติกรรมผิดปกติ เช่น เซื่องซึมหรือซนมาก และเมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง หัวใจจะทำงานหนักจนอาจเกิดหัวใจวายได้
–  ขัดขวางการกลืน ทำให้กลืนอาหารลำบาก เป็นเด็กกินอาหารยาก อาเจียนง่าย

 
– โครงสร้างรูปใบหน้าเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหายใจทางจมูกได้น้อย จึงต้องอ้าปากไว้ตลอดเวลา ทำให้ฟันหน้ายื่น การสบฟันผิดปกติ ดั้งจมูกแบน เพดานปากสูงและแคบ พูดเสียงขึ้นจมูก พูดไม่ชัด เป็นเด็กหน้าตายหรือสีหน้าเรียบเฉย ไม่ใคร่มีสุข
ในกรณีลูกของคุณแม่มีอาการหายใจเสียงดังตั้งแต่เล็ก อาจเข้าได้กับกรณีแพ้โปรตีนนมวัว แถมตอนนี้มีอาการไออีก หมอคิดว่าลูกอาจมีอาการของไซนัสอักเสบร่วมด้วย ซึ่งวินิจฉัยได้โดยการเอกซเรย์ และรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องเพื่อให้หายสนิท ร่วมกับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และพ่นยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาการภูมิแพ้ที่จมูกดีขึ้น
จากนั้นก็หาสาเหตุให้ได้ว่ามีอะไรอีกบ้างที่ลูกอาจแพ้ ซึ่งทราบได้โดยการทำทดสอบผิวหนังหรือเจาะเลือดเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่ออาการแพ้ ถ้าคิดว่าไม่มีสาเหตุอื่น คุณแม่อาจลองให้ลูกหยุดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว ซึ่งอาการน่าจะดีขึ้น และเมื่อไม่มีการติดเชื้อนานๆ ต่อมอดีนอยด์และทอนซิลก็อาจเล็กลง จนอาการหายใจเสียงดังและนอนกรนดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัดออก แต่หากยังไม่ดีขึ้นแล้วพบว่าลูกมีปัญหาหยุดหายใจขณะนอนหลับ แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต่อมอดีนอยด์และทอนซิลออกในที่สุด

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up