“ท้องแฝด” ภาวะต้องระวังยิ่ง

Alternative Textaccount_circle
event

“โดยธรรมชาติแล้ว มดลูกของผู้หญิงเหมาะสำหรับเด็กเพียงคนเดียว เมื่อเกิดตั้งครรภ์แฝด (การมีเด็กอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป อยู่ร่วมมดลูกเดียวกัน) จึงถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ทั้งยังแตกต่างจากการตั้งครรภ์ลูกคนเดียวมาก การหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์แฝด เพื่อการดูแลและระมัดระวังจึงจำเป็นมาก

“ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดๆ แพทย์ไม่แนะนำให้เกิดการตั้งครรภ์แฝดแบบตั้งใจ” สิ่งนี้คือประเด็นสำคัญที่คุณหมอตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ที่ผ่านประสบการณ์การดูแลช่วยเหลือคุณแม่และลูกแฝดที่อยู่ในภาวะเสี่ยงจำนวนมาก ต้องการส่งถึงทุกครอบครัวและคู่ที่คิดกำลังจะมีลูกได้ตระหนักให้มากและเข้าใจให้ถูกต้อง

ไตรมาสแรก รู้ตัวเร็ว เพื่อ “ตระหนัก” ไม่ใช่ตระหนก

“ที่บอกว่าการตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ จะเรียกว่าเป็นภาวะไม่ปกติของการตั้งครรภ์ก็ได้ เพื่อให้ตระหนักว่าในช่วงนี้คุณแม่และครอบครัวควรรู้เรื่องอะไร จะได้เตรียมพร้อมดูแลครรภ์และตัวคุณแม่ให้ปลอดภัยที่สุด” คุณหมอตวงสิทธิ์ขยายความเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

•  ความเสี่ยงต่อการแท้ง

เป็นเรื่องแรกที่ต้องรู้และคำนึงถึง ดังนั้นคุณแม่ท้องแฝดควรรู้ตัวให้เร็ว และอยู่ในการดูแลของแพทย์ได้เร็ว เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่างๆ

•  คุณแม่ควรรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มที่จะรู้การตั้งครรภ์เร็วหรือไม่

การสังเกตและใส่ใจรอบเดือนของตัวเอง เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าคุณแม่จะมีโอกาสท้องแฝดหรือไม่ก็ตาม

  • กลุ่มที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอ พอประจำเดือนขาดไป มักจะรู้ตัวได้เร็ว
  • กลุ่มที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ คุณแม่ต้องใส่ใจตัวเองเป็นพิเศษ เพราะหากเผลอไม่ได้สังเกตมีโอกาสสูงที่จะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ช้า โอกาสเสี่ยงต่างๆ ยิ่งสูงขึ้น
•  คุณแม่ครรภ์แฝดมักแพ้ท้องมากกว่าปกติ
•  ท้องแฝดจำเป็นต้องเลือกแพทย์และสถานพยาบาล

การตั้งครรภ์แฝดควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่ชำนาญการดูแลครรภ์แฝดโดยเฉพาะ และมีประสบการณ์มากในการดูแลครรภ์แฝด และถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์แฝดไข่ใบเดียวกันกรุณาฝากครรภ์กับแพทย์โรงเรียนแพทย์ ไม่แนะนำการฝากครรภ์ที่คลินิก

ต้องรู้ด้วยว่าเป็นท้องแฝดแบบไหน

นอกจากรู้ว่าตั้งครรภ์แฝดแล้ว คุณแม่และครอบครัวจำเป็นต้องรู้ว่าเป็นครรภ์แฝดลักษณะใดด้วย เพราะความเสี่ยงและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในแฝดแต่ละแบบต่างกันมาก เพื่อจะได้ระมัดระวังให้มาก

อ่านเพิ่มเติม

  1. “ท้องแฝด” ต้องใส่ใจตรวจละเอียดในไตรมาสสอง
  2. แม่ท้องแฝดระวัง! เจ็บท้องก่อนกำหนด

 

จากคอลัมน์ Pregnancy {0-13 weeks} นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนมกราคม 2558

ขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ตวงสิทธิ์ วัฒกนารา สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลศิริราช

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up