เรื่องปากต่อปากของแม่ท้อง เชื่อหรือไม่เชื่อดีนะ? (ไตรมาส 1)

Alternative Textaccount_circle
event

“ความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์” เรื่องไม่เล็กไม่ใหญ่ ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่กลับยิ่งเข้าหูเมื่อตั้งครรภ์ เพราะหลักใหญ่ใจความของเรื่องว่ากันว่า ปากต่อปากกันนั้นมุ่งหวังให้ทั้งแม่ท้องและลูกน้อยสุขภาพดี

แม้เลี่ยงได้ยาก แต่คุณเลือกอยู่กับความเชื่ออย่างสงบสุขได้ค่ะ ด้วยการรับฟังบนความเข้าใจที่ถูกต้อง ย่อมช่วยให้ว่าที่คุณแม่ DIY วิธีดูแลตัวเองได้ถูกทางและมั่นใจขึ้น เราได้พูดคุยกับคุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ มีข้อมูลน่ารู้มาฝากคุณแม่กันค่ะ

ไตรมาสแรก ว่าด้วยเรื่อง “ฝากท้อง”

1. ว่ากันว่า “ให้ฝากท้องเมื่อลูกดิ้น”

โอ้…คุณพระ ช้าไปจ้ะ” ไม่ใช่อุทานของคุณหมอ แต่ข้อมูลที่ฝากมาก็ไม่หนีอารมณ์นี้หรอกค่ะ

คุณหมออธิบายว่า คุณแม่ควรฝากครรภ์ให้เร็ว เพราะมีการตรวจหลายอย่างที่จำเป็นตั้งแต่ในไตรมาสแรก เพื่อสุขภาพลูกและแม่ เช่น อายุครรภ์ โรคแทรกซ้อนต่างๆ ความปกติของการตั้งครรภ์ภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นต้น โดยทั่วไปคุณแม่มักจะสงสัยหรือพอจะรู้ตัว ว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ ทั้งนี้หากก่อนตั้งครรภ์คุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอก็มีความเป็นไปที่คุณแม่อาจรู้ตัวช้า

2. ว่ากันว่า “ฝากท้องก็เหมือนฝากเงิน ฝากครั้งแรกก็เสร็จแล้ว!”

มีแม่ท้องจำนวนไม่น้อยที่เชื่ออย่างนี้ หลังฝากครรภ์ครั้งแรกแล้ว จะมาเจอหมออีกทีเมื่อตอนจะคลอด หรือบางรายมาตรวจหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นการฝากครรภ์

การฝากครรภ์ คือ การมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพคุณแม่และครรภ์ตามกำหนดนัดหมายอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพ ความปลอดภัยและสมบูรณ์ของลูกน้อยและว่าที่คุณแม่ เพราะเมื่อมารับการตรวจตามนัดหมาย คุณหมอจะบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาวะการเจริญเติบโตของลูกน้อย

บางกรณีอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม รวมถึงให้คำแนะนำแก่คุณแม่ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์ เพราะถึงจะเป็นแม่ท้องเหมือนกัน ทว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เช่น กรณีคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวและต้องดูแลเป็นพิเศษ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น

รู้หรือไม่! เปลี่ยนคุณหมอฝากท้องได้นะ!

โดยปกติแล้ว คุณหมอที่ตรวจยืนยันว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ จะทำการตรวจต่างๆ ที่จำเป็นให้คุณแม่ มักจะเป็นคุณหมอที่คุณแม่ตั้งใจจะไปฝากครรภ์ด้วยแล้ว เมื่อฝากท้องไว้กับคุณหมอท่านใด ควรจะพบคุณหมอท่านนั้นตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด เพราะคุณหมอจะเห็นพัฒนาการของครรภ์และข้อมูลต่างๆ มาโดยตลอด

“ทั้งนี้ก็มีกรณีที่คุณแม่เปลี่ยนคุณหมอที่ฝากครรภ์ได้ อย่างเช่น คุณแม่มาตรวจที่โรงพยาบาลหนึ่ง แล้วต้องการย้ายไปโรงพยาบาลอีกแห่งเพื่อใช้สิทธิการรักษาพยาบาล หรือกรณีที่ต้องย้ายที่อยู่ จำเป็นต้องเปลี่ยนหมอผู้ดูแล หากคุณแม่ถือสมุดฝากครรภ์ (คุณหมอผู้ดูแลครรภ์จะบันทึกข้อมูลการตรวจครรภ์) เองอยู่แล้ว ก็สามารถนำไปให้คุณหมอที่ดูแลต่อไปได้

กรณีที่ไม่ได้ถือสมุดฝากครรภ์เอง คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวล สามารถขอสมุดฝากครรภ์หรือขอสำเนาจากโรงพยาบาล เพื่อนำไปให้คุณหมอที่ดูแลต่อได้รับทราบข้อมูลได้ค่ะ”

 

อ่านเพิ่มเติม ไตรมาส 2 | ไตรมาส 3

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลราชวิถี และที่ปรึกษา About Us Advanced Maternity Center

บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up