ลูก 3-5 ขวบเล่นไม่เหนื่อย แต่พ่อแม่ไม่ไหว! ทำอย่างไรดี

ลูก 3-5 ขวบเล่นไม่เหนื่อย แต่พ่อแม่ไม่ไหว! ทำอย่างไรดี

Alternative Textaccount_circle
event
ลูก 3-5 ขวบเล่นไม่เหนื่อย แต่พ่อแม่ไม่ไหว! ทำอย่างไรดี
ลูก 3-5 ขวบเล่นไม่เหนื่อย แต่พ่อแม่ไม่ไหว! ทำอย่างไรดี

เพราะเด็กวัยนี้มีพลังล้นมากเหลือเกิน คุณพ่อคุณแม่เล่นด้วยมาครึ่งวันก็แล้ว ยังไม่มีทีท่าจะหยุดเล่นสักที แต่จะบังคับให้เลิกเล่นก็ไม่ดีกับลูกสักเท่าไร เรามีคำแนะนำค่ะ!

1. ให้ลูกเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน

ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน จะช่วยส่งเสริมการฝึกทักษะทางสังคมมากขึ้น เด็กวัยนี้มีโอกาสเห็นไม่ตรงกันบ่อยเพราะต่างยังมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่การเล่นจะทำให้เขาได้มีโอกาสฝึกทักษะการต่อรองเพื่อให้ได้ตามที่ตัวเอง ต้องการ การทะเลาะกัน ประนีประนอมกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน การรอคอย ผลัดกันเล่น ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรให้เล่นกับเด็กที่โตหรือเล็กกว่ามาก เพราะพี่ที่โตกว่ามากมักจะยอมน้อง ทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ที่เป็นฝ่ายให้ หรือเล่นกับน้องเล็กกว่า พัฒนาการต่างๆ ไม่เท่ากัน เขาอาจเบื่อและหันมาเล่นกับคุณอีก

ถึงจะมีเพื่อนเล่น แต่เด็กวัยนี้ก็ยังต้องการพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เฝ้าดูเท่านั้น ถ้าเขายังเล่นด้วยกันดี ระหว่างเล่นขัดแย้งกันบ้างแต่ไม่หนักหนา และคุณอยากให้ลูกได้ฝึกทักษะสังคม ควรให้โอกาสเด็กๆ การแก้ปัญหากันก่อน จำเป็นจริงๆ ถึงขั้นเป็นอันตรายผู้ใหญ่จึงค่อยเข้าไป

2. เล่นบทบาทสมมุติ

เด็กเล็กๆ ในช่วงวัยนี้ จะสนใจและชอบการเล่นบทบาทสมมุติ สนุกกับการสวมบทบาทด้วย เพราะเขาอยากเลียนแบบผู้คนหรือสถานการณ์ที่เขาได้พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น เล่นพ่อแม่ลูก เล่นครูนักเรียน เล่นขายของ เล่นเป็นตำรวจ เล่นเป็นสัตว์ เล่นเป็นยอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ

การเล่นบทบาทสมมุติ ช่วยให้เซลล์สมองเชื่อมโยงกันอย่างมาก เพราะเป็นการเล่นที่เด็กต้องใช้ทักษะหลายๆ อย่างในการเล่นคราวเดียว ตั้งแต่กล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ จากการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่างๆ การใช้สมองส่วนหน้า เพื่อวางแผนการเล่น คิดแก้ปัญหา การควบคุมตนเอง การควบคุมอารมณ์ รวมไปถึงการพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะทางภาษา การเจรจาต่อรอง

ถ้าพ่อแม่สนับสนุน เปิดโอกาสให้ลูกได้ริเริ่มเล่นเอง นอกจากลูกจะได้ประโยชน์อย่างที่ว่ามาแล้ว จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองได้มากขึ้น

รู้หรือไม่!

แค่คำสั้นๆ เล่นอะไรไร้สาระ!! สำหรับลูกเป็นเรื่องใหญ่มาก

ครูแป๋ม-คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด พูดถึงประเด็นสำคัญที่พ่อแม่มักอาจมองข้าม เมื่อเห็นลูกๆ วัยนี้มีเพื่อนในจินตนาการหรือเล่นบทบาทสมมุติ “ถ้าลูกกำลังเล่นสมมุติเป็นเจ้าหญิงอยู่ แล้วพ่อแม่พูดว่า เล่นอะไรไร้สาระ หรือไปจนถึงบอกให้เขาหยุดเล่นสำหรับผู้ใหญ่อาจฟังเป็นคำพูดธรรมดา เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเขาจะรู้สึกคับข้องใจ รู้สึกแย่ รวมไปถึงอาจรู้สึกผิดด้วย ว่าเราไม่น่าเล่นอะไรแบบนี้ จนทำให้ถูกแม่ว่าเลย

“การได้เล่นอย่างอิสระ ไม่ปิดกั้น หรือห้ามไปหมดเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกวัยนี้ต้องการ เพราะเมื่อไหร่ที่เขาไม่ได้ทำ ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เล่นในช่วงนี้ ความวิตกกังวลและความไม่มั่นใจจะตามมาและส่งผลไปจนถึงเมื่อเขาโตขึ้น”

 

จากคอลัมน์ Ages 3-5 นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณฉันทิดา สนิทนราทร นักเล่นบำบัด (Play Therapist) โรงพยาบาลมนารมย์ | Facebook fanpage: Play Story by Pam

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

ภาพ: shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up