ขจัด “ความกลัว” ก่อนเข้าโรงเรียน

Alternative Textaccount_circle
event

ความกลัวเป็นกลไกธรรมชาติเพื่อให้คนเราปรับตัวเข้ากับประสบการณ์ใหม่ ไม่แปลกที่เด็กวัยก่อนเรียนซึ่งเพิ่งจะเปิดโลกกว้างและได้พบเจอสิ่งใหม่เกือบทุกวันจึงกลัวนั่นกลัวนี่ พ่อหนูแม่หนูทั้งหลายกลัวทุกอย่าง ตั้งแต่สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างสุนัข ผู้คนแปลกหน้า หรือความมืด ไปจนถึงสิ่งที่พวกเด็กสร้างขึ้นมาจากจินตนาการอย่างผีหรือสัตว์ประหลาด

 
ช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่อาจยังกำจัดความกลัวให้ลูกไม่ได้ แต่คุณช่วยพวกแก “จำกัด” ความกลัวให้อยู่ในขอบเขตได้ด้วยเทคนิคเหล่านี้

 
• เข้าใจ ความกลัวของหนูๆ จะไม่หายไป ถ้าผู้ใหญ่เมินเฉยเพราะเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ถึงแม้ว่าความกลัวเหล่านี้จะดูตลกหรือไม่มีเหตุผลในสายตาคุณ แต่สำหรับเจ้าตัวน้อย ปัญหานี้เป็นเรื่องจริงจังและเคร่งเครียดเลยเชียวละ ถ้าคุณพูดว่า “โอ๊ย…กลัวอะไรก็ไม่รู้ไร้สาระจริงๆ” ต่อไปลูกก็จะไม่คิดปรึกษาคุณอีก ยิ่งทำให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยวและกลัวมากขึ้น

 
ดังนั้น ถ้าลูกเล่าให้คุณฟังว่ากำลังกลัวอะไร ก็พยายามแสดงออกให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจความรู้สึกนี้ (ถึงแม้คุณจะไม่ได้กลัวเหมือนลูกก็ตาม) ลูกจะเรียนรู้ว่า  วิธีแก้ความกลัวที่ดีที่สุดคือพูดถึงมันและปรึกษาคนอื่นๆ

 
• อย่าบอกลูกว่า “ไม่จำเป็นต้องกลัว” คำปลอบว่า  “ไม่เป็นไรน้องหมาไม่กัดหนูหรอก” มีแต่จะส่งผลตรงข้าม ทำให้ลูกยิ่งหวาดหวั่นมากขึ้น (เพราะพ่อแม่ไม่เห็นว่าหมาตัวนั้นน่ากลัวแค่ไหน)ลองพูดว่า “แม่รู้ว่าหนูกลัวหมา เราจะเดินผ่านมันพร้อมกันนะ ถ้าหนูกลัวมากๆ แม่จะเดินบังหนูไว้และจับมือหนูด้วย” แทนดีกว่า

 
• อธิบายให้ลูกมองเห็นภาพ เพื่อลดความกลัวจากความ “ไม่รู้”ถ้าลูกกลัวพลัดหลงกับพ่อแม่ในฝูงชน บอกแกว่า “ถ้าหนูอยู่ข้างๆและจับมือแม่ไว้ตลอดเวลา เราจะไม่หลงกัน แต่ถ้าหนูหาแม่ไม่เจอก็ยืนอยู่ตรงนั้น แม่จะหาหนูเจอเอง”

 
• “หมอนเน่า” มีประโยชน์ ของเล่นชิ้นโปรด ผ้าห่มผืนที่ต้องห่มนอนทุกคืน หรือบรรดาหมอนเน่าหมาเปื่อยทั้งหลาย เป็นตัวช่วยสำคัญ ของรักเหล่านี้ช่วยลดความกังวลและทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์บางอย่างที่แกไม่ชอบ เช่น ตอนเช้าที่หน้าโรงเรียนอนุบาล หรือตอนก่อนถึงเวลานอนในห้องคนเดียว

 
• ขอตัวช่วย ถ้าลูกกลัวอะไร ลองมองหาสื่อต่างๆ เช่น นิทานหรือหนังการ์ตูนเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เช่น ถ้าลูกกลัวสัตว์ประหลาดในจินตนาการ ลองมองหาหนังเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดที่เป็นเพื่อนกับเด็กๆ มานั่งดูด้วยกัน แล้วพูดคุยกันถึงสัตว์ประหลาดเจ้าปัญหาของลูก (“หนูว่าหนูพอจะเป็นเพื่อนกับมันได้เหมือนพระเอกในเรื่องนี้ไหมจ๊ะ”)

 
• แก้ปัญหาด้วยกัน ลองนั่งปรึกษากับลูกว่าเราจะสู้ความกลัวนี้อย่างไร เช่น ติดดาวเรืองแสงบนเพดานห้องให้เจ้าตัวเล็กที่กลัวความมืด สร้างงานศิลปะเป็นบ้านผีสิง หรือเล่นเกมสมมุติเป็นคุณหมอฟันคนเก่ง

 
อย่างไรก็ตาม อย่าคาดหวังว่าลูกจะหายกลัวภายในวันสองวันปัญหานี้อาจใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจเป็นปี แต่สุดท้ายแกก็จะดีขึ้นเองในที่สุด

 

 

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up