ตะคอกลูก

ตะคอกลูก แล้วได้อะไร? เปลี่ยนมาทำสิ่งนี้ดีกว่า เห็นผลแน่นอน!

Alternative Textaccount_circle
event
ตะคอกลูก
ตะคอกลูก

 เปลี่ยนจากการ ตะคอกลูก มาเป็นการทำสิ่งเหล่านี้กันเถอะ

การตะคอกลูกนั้น นอกจากจะไม่ส่งผลดีใด ๆ แล้วยังทำให้คุณแม่ต้องเจ็บคอโดยใช่เหตุ เพราะฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือคำพูดโดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนค่ะ ยกตัวอย่างเช่น

  • “หยุด” หากคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่า อารมณ์ ณ ตอนนั้น ไม่ปกติแล้ว กำลังเริ่มที่จะมีอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดละก็ ให้รีบ “หยุด”  ค่ะ คำว่าหยุดในที่นี้หมายถึง หยุดคำพูด หยุดการกระทำ และหยุดอารมณ์ของตัวเอง ด้วยการสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วนิ่ง อาจจะนับ 1 – 10 ในใจก่อนก็ได้นะคะ ให้มั่นใจว่า อารมณ์ของเรานิ่งพอแล้ว ค่อยเรียกลูกมาคุยหรือว่าเดินไปคุยกับลูกแทน
  • “สัมผัส” การสัมผัสในที่นี้ไม่ใช่การเอาไม้เรียวหรือมือไปสัมผัสกับตัวของลูกนะคะ หากแต่เป็นการสัมผัสลูกเบา ๆ ยกตัวอย่างเช่น การจับมือลูก การกอดลูก หรือการสบตา ด้วยการเรียกลูกมาพูดคุย
  • “พูดคุย” เมื่อเราได้สัมผัส และสบตาลูกแล้ว ค่อย ๆ ใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน พร้อมอธิบายและถามไถ่ลูกว่า สิ่งที่ลูกทำนั้นถูกต้องหรือไม่ หน้าที่ตอนนี้ของลูกคืออะไร เชื่อไหมคะว่า คำตอบที่ได้มาก็คือ ลูกรู้ว่าเขาต้องทำอะไร รู้ทุกอย่าง เพียงแต่ไม่ลงมือทำ และถ้าหากถามต่อไปว่าเพราะอะไร คำอธิบายที่จะได้ตามมาอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่จุกหรือว่าหงายท้องได้เลยละค่ะ และส่วนใหญ่ก็คือ “อยากให้พ่อแม่ทำให้”
  • “อธิบาย” เมื่อทราบสาเหตุแล้ว ก็สามารถอธิบายให้ลูกฟังได้ว่า เพราะอะไร ทำไมพ่อหรือแม่ถึงไม่สามารถทำให้ได้ หรือถ้าหากทำได้ ซึ่งเหตุผลที่ให้ลูก จะต้องไม่เป็นการโกหกโดยเด็ดขาด เพราะการโกหกจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อลูกทราบความจริง
  • “ชมเชย” ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่หรอกค่ะที่ต้องการได้ยินคำชมเชยจากคนที่ตัวเองรักและชื่นชม ลูกเองก็เช่นกัน เพียงแค่ กล่าวชื่นชมลูกด้วยความจริงใจ เท่านี้ก็สามารถเป็นการเพิ่มกำลังใจ ที่อยากจะให้ลูกไม่งอแง และเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่แล้วละค่ะ

ลูกไม่ได้อยากดื้อหรือทำตัวไม่น่ารักใส่คุณพ่อคุณแม่หรอกนะคะ แต่ด้วยวัยของเขา หากเราเข้าใจ ใส่ใจ และให้ความสำคัญ พร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือด้วยความรัก เพียงแค่นี้ก็สามารถทำให้ลูกเป็นเด็กดี เชื่อฟัง โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องตะโกนใส่ลูกหรือ ตะคอกลูก ให้เหนื่อยเปล่าเลยละค่ะ … อย่างไรลองดูนะคะ

อ้างอิง: ประชาชาติธุรกิจ และ Scarymommy

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up