วิธีจัดการลูกเล็กชอบออกคำสั่ง

Alternative Textaccount_circle
event

Q: คุณแม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลาค่ะ มีความสุขกับอิสระในการทำอะไรที่ไม่ต้องมีเจ้านาย-ลูกน้อง แต่วันดีคืนดีลูกน้อยของดิฉันแปลงร่างเป็นเจ้านาย (ที่รัก ฮึ่ม) ซะแล้ว เพราะชอบออกคำสั่งให้แม่ทำโน่นทำนี่ให้ ดิฉันจะรับมือกับเจ้านายคนนี้ยังไงดีคะ

รู้หรือไม่! มีช่วงหนึ่งของพัฒนาการที่เด็กจะ (ลอง) สั่งพ่อแม่ รวมทั้งคนรอบตัวเขาให้ทำโน่นทำนี่ แถมต้องคนที่ถูกสั่งทำให้เท่านั้น คนอื่นจะมาทำแทนให้ไม่ได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงหลัง 3 ขวบค่ะ

จริงๆ แล้ว การอยู่บ้านเดียวกับเด็กวัยเดียวกับลูกชายคุณแม่ เหมือนอยู่กับคนตัวเล็กที่ (คิดไปเอง) ว่ารู้มากกว่าเราทุกเรื่อง จึงสั่งให้เราทำตามที่เขาสั่ง แม้แต่เรื่องเสื้อผ้าที่เราใส่ หนังสือที่เราจะอ่าน เก้าอี้ที่เราจะนั่ง หมอเคยเจอเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ชี้ไปที่คุณแม่แล้วสั่งห้ามไม่ให้แม่นั่งเก้าอี้ เมื่อแม่ไม่ทำตาม (เพราะหมอบอก) เธอก็กรีดร้องอาละวาด เพราะที่ผ่านมาแม่เชื่อฟังเธอมาตลอด หรือแม้แต่เด็กบางคนที่บอก (ขู่) แม่ว่าถ้าแม่ไม่ทำตามหนูๆ จะอาละวาด (เหตุเกิดในที่สาธารณะที่ต้องการความเงียบ)

แม้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก แต่เมื่อลูกเข้าสู่วัยนี้ก็คาดได้เลยว่าเขาจะมีพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัย แต่เพื่อให้การปกครองในบ้านไม่เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช คุณหมอมีคำแนะนำดังนี้ค่ะ

1. อดทน

เหตุผลที่ลูกทำแบบนี้ เป็นพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งที่เขาเห็นอยู่ทุกวัน ซึ่งคนที่เขาเลียนแบบก็คือผู้ใหญ่ใกล้ตัวเขา ซึ่งมักเป็นคุณแม่เองที่สั่งให้เขาหรือคนในครอบครัวทำโน่นทำนี่ เขาจึงเรียนรู้ที่จะบอกความต้องการของตัวเองผ่านการสั่ง

2. กระตุ้นให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม

จากการสั่งเป็นการร้องขออย่างสุภาพ บอกลูกว่าแม่ยินดีจะช่วยเขา เช่น เล่นกับเขา อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง ช่วยใส่รองเท้าหากเขาร้องขอ แทนการออกคำสั่ง เช่น “นี่สั่งหรือขอ เพราะถ้าสั่งก็ไม่ทำให้ แต่ถ้าขอดีก็อาจจะทำให้นะ” และผู้ใหญ่ควรเป็นต้นแบบที่ดีเวลาพูดขอให้ใครทำอะไรให้

3. มอบอำนาจให้ลูกบ้าง

เพราะอีกเหตุผลที่ลูกชอบสั่งเกิดจากการที่เขาอยากควบคุมอะไรในชีวิตของเขาได้บ้าง ไม่ใช่คอยรับคำสั่งจากผู้ใหญ่ ดังนั้น แทนการสั่งคุณแม่ควรมีช๊อยส์ให้ลูกเลือก เช่น หนูจะใส่เสื้อสีฟ้าหรือสีส้ม และอาจให้ลูกได้เลือกเกมส์ที่จะมาเล่นกับคุณแม่ รวมทั้งให้เขาช่วยสอนน้องหรือเด็กเล็กกว่า

4. สอนลูกให้มองอีกมุม

เช่น เวลาที่เขามาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ลองถามเพื่อกระตุ้นให้เขาคิดว่า “เขารู้สึกอย่างไร หากเพื่อนเขามาสั่งให้เขาทำโน่นทำนี่” แต่ไม่ควรไปเทศนายาวๆ ว่า “สั่งแบบนี้ ไม่มีใครชอบ เดี๋ยวเพื่อนไม่เล่นด้วย”

5. อธิบายให้ลูกรู้ว่า…

เขาไม่จำเป็นต้องได้ทุกอย่างที่ร้องขอ แม้ว่าเขาจะพูดขอคุณแม่เพราะๆ แต่คุณแม่ก็อาจต้องปฏิเสธเขา เช่น เขาขอร้องให้คุณแม่พาไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่เวลาที่เขาพูดกับเพื่อนเพราะๆ เพื่อให้เพื่อนทำตามเขา เพื่อนก็มีสิทธิปฎิเสธเขาได้

6. ชมเชย

เมื่อเขารู้จักร้องขอด้วยคำพูดที่สุภาพ เพื่อให้ลูกรู้ว่าคุณชื่นชมกับพฤติกรรมและมารยาทที่ดี ซึ่งจะเป็นแรงเสริมให้เขาคงพฤติกรรมที่ต่อไป จนติดเป็นนิสัย

7. อย่าลืมทำงานเป็นทีม

กับคุณพ่อและสมาชิกคนอื่นในครอบครัว รวมทั้งคุณครูที่โรงเรียน ขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่คนอื่นในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณพ่อ ให้ช่วยรับมือกับ “การออกคำสั่ง” ของลูกตามคำแนะนำเบื้องต้น เพราะหากในครอบครัวเป็น “Happy Teamwork” จะทำให้ลูกผ่านพันช่วงนี้และพัฒนาเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมค่ะ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up