3-6 ขวบ แสบซ่า…น่ารัก

Alternative Textaccount_circle
event

ยอมรับมาเถอะ…หลายครั้งลูกวัย 3-5 ขวบทำให้คุณปวดหัวกับการดูแลพวกเขาก็จริง แต่สิ่งใหม่ๆ ที่เขาทำได้ก็สร้างความประหลาดใจ และทำให้คุณปลื้มใจจนแอบอมยิ้ม อารมณ์ดีอยู่คนเดียว และโกรธเขาได้ไม่นานหรอก…

“แม้จะต้องปราบพยศลูกวัยจินตนาการจ๋าที่ชอบทำฤทธิ์ทำเดชก็ตาม แต่ด้วยพัฒนาการทางกายที่ก้าวหน้าขึ้น แข็งแรงขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายคล่องแคล่วขึ้น รวมทั้งทักษะทางภาษาและสังคมของเด็กๆ จะพัฒนาแบบทวีคูณเลยทีเดียว คุณจะได้เห็นเขากลายเป็นเด็กที่กล้าแสดงออกมากขึ้น พึ่งตัวเองได้มากขึ้น และรู้จักใส่ใจผู้อื่นมากขึ้น” ดร.ไมค์ แอสเซล รองศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ อธิบาย

•  ฉลาดพูดสุดๆ

ดร.แอสเซลขยายความว่า “ทักษะด้านการพูดของเด็กวัย 3-5 ขวบจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ขวบ เด็กมักจะพูดเป็นคำๆ แต่เมื่อถึงวัยอนุบาลจะเริ่มพูดเป็นประโยคที่สมบูรณ์ ยิ่งถ้าได้โอกาสเล่นบทบาทสมมติมากๆ เด็กๆ จะยิ่งบรรยายความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น ตอบคำถามได้เข้าท่ามากขึ้น รู้จักใช้คำใหม่ๆ และจะมีคำพูดตลกๆให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ สำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เด็กวัยนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นด้วย เช่น เขารู้ว่าควรเรียกมักกะโรนีว่าพาสตา ไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยว

•  ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กวัยนี้ก็พัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน “ถึงจะยังต้องให้ช่วยบ้าง แต่เด็กๆ มักจะติดกระดุม ล้างมือและกินข้าวเองได้” ผศ.ดร.ลอรา สเตาท์ โซซินสกี นักจิตวิทยา อธิบาย จากลูกที่พึ่งคุณทุกเรื่อง เขาจะเป็นเด็กที่พึ่งตัวเองได้มากขึ้น “ลูกวัย 3-4 ขวบจะรู้จักเก็บของเล่นเข้าที่ หยิบเสื้อผ้าของตัวเองใส่ตะกร้าและช่วยเก็บถ้วยชามบนโต๊ะอาหาร” ดร.แอสเซลยกตัวอย่าง ถึงจะยังทำหน้าที่เหล่านี้ได้ไม่ดีพอ แต่ลูกก็ช่วยคุณได้มากขึ้น (แม้จะแค่เล็กน้อยก็ยังดี)

•  รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น

“ลูกวัยนี้เริ่มบอกได้แล้วว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร และยังรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นด้วย เขาจึงมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น ฉะนั้นลูกที่รับรู้ได้ว่าพ่อแม่ทุกข์ใจก็อาจจะพยายามทำให้พ่อแม่สบายใจขึ้น คุณจะประทับใจมากทีเดียว” ดร.โซซินสกี อธิบาย

•  เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น

ดร.แอสเซลอธิบายว่า “ลูกวัย 3-4 ขวบจะตั้งคำถามและซึมซับข้อมูลตลอดเวลา สาเหตุที่ลูกวัยนี้กลายเป็น “เจ้าหนูจำไม” ก็เพราะเขากำลังสร้างพื้นฐานความรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว คุณยังอาจจะต้องประหลาดใจที่เขาเก็บข้อมูลและรายละเอียดบางอย่างได้ด้วยเช่น บอกวันเดือนปีเกิดของตัวเองได้ ลูกวัยนี้จะเริ่มเรียนรู้เรื่องรูปทรง สีและตัวอักษร จึงอาจจะจำได้ว่าชื่อบนการ์ดอวยพรวันเกิดเป็นชื่อของตัวเองหรืออ่านคำง่ายๆ ออกได้ด้วย

•  ติดพ่อแม่น้อยลง

อีกหนึ่งข้อดีของการมีลูกวัยนี้คือ การบอกลามักจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสำหรับทั้งสองฝ่าย “ลูกจะรับมือกับการแยกจากพ่อแม่ได้ดีขึ้น เพราะเขาเริ่มเข้าใจเรื่องเวลาบ้างแล้ว การที่ลูกรับรู้ว่าคุณจะกลับมาในไม่ช้าและบอกลาได้ง่ายขึ้น จึงช่วยลดความรู้สึกผิดที่ต้องทิ้งเขาไว้กับคนอื่น” ดร.แอสเซลให้ข้อสังเกต

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up