ลูกร้องไห้บ่อย ร้องได้ตลอด

Alternative Textaccount_circle
event

เจออะไรใหม่…ร้องไห้ คุณแม่เดินไปทางอื่นหรือห่างไปหน่อย…ร้องไม่หยุด ให้นั่งเก้าอี้กินข้าว (high chair) …ร้องไห้ ให้กินอะไร…ร้องไห้ ก่อนนอน…ก็ร้องได้อีก เรียกว่า ลูกร้องไห้บ่อย ร้องได้ตลอดเวลา จนคุณแม่ทำอะไรไม่ถูกแล้ว มีข้อแนะนำไหมคะ คุณแม่เครียดมาก ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบค่ะ

ดีแล้วค่ะที่คุณแม่ไม่เก็บความเครียดไว้คนเดียว อย่างน้อยคุณแม่ก็เลือกที่จะบอกกล่าว ถามไถ่ใครสักคน เราลองมาทำความเข้าใจเหตุผลของเจ้าตัวน้อยของคุณไปพร้อมๆ กัน น่าจะมีสักวิธีที่จะใช้กับลูกน้อยของคุณได้ค่ะ

เมื่อเป็นทารก เด็กสื่อสารกับเราด้วยวิธีการร้องไห้ค่ะ เป็นภาษาของเด็กเบบี๋ทุกคน ลูกเปรียบเสมือนเป็นมนุษย์ต่างดาวที่ไม่รู้ภาษาของเรา ต้องมาเรียนรู้ใหม่หมดตั้งแต่ต้น และภาษาเดียวที่ลูกค้นพบว่าใช้เรียกความสนใจได้ดีนักเชียวก็คือ “การร้องไห้” ช่วงเวลานี้อยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึงสิบแปดเดือน ลูกของคุณยังอยู่ในช่วงกลางๆ ของวัยนี้พอดีค่ะ

ดังนั้นเมื่อลูกต้องการบอกอะไรสักอย่าง จึงต้องใช้วิธีร้องไห้เป็นวิธีสื่อสารกับเราบรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายค่ะ เป็นไปได้ว่าลูกกำลังสื่อสารและอยากบอกความต้องการของเขาให้คุณทราบและอยากให้คุณตอบสนอง

ความต้องการพื้นฐานของเด็กเล็กนั้นค่อนข้างเรียบง่าย เมื่อหิวก็ต้องการอาหาร เมื่อง่วงก็ต้องการนอนหลับ เมื่อได้รับการตอบสนองเขาจะสงบลงได้ค่ะ ช่วงนี้ลูกอยู่ในสภาพที่ยัง “ช่วยตนเองไม่ได้” (Helplessness) เป็นโอกาสที่จะฝึกพัฒนาการพื้นฐานอย่างแรกได้ นั่นคือ พัฒนาการเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ไว้วางใจว่าลูกจะได้รับการตอบสนองจากบุคคลภายนอกเพื่อบรรลุความต้องการที่ลูกน้อยทำด้วยตนเองไม่ได้

โดยปกติความต้องการของลูกจะได้รับการตอบสนองอยู่เสมอ เพียงแต่บางทีอาจไม่ได้รับการตอบสนองทันท่วงที เพราะบางช่วงคุณอาจจะยุ่งกับเรื่องอื่นๆ อยู่

ช่วงวัยทารกเมื่อลูกแสดงความต้องการทั้งหลายทั้งปวง ลูกควรได้รับการตอบสนองโดยทันทีค่ะ อย่าลืมว่าในความรู้สึกของทารก หนึ่งนาทีของเรานั้นเท่ากับหนึ่งชั่วโมงของลูกน้อยเลยทีเดียวนะคะ

บางทีคุณอาจจะอยากให้ลูกเรียนรู้เรื่องความอดทนตั้งแต่วัยทารก แต่การทำเช่นนั้นกลับจะยับยั้งพัฒนาการด้านการสร้างความไว้วางใจของลูกและทำให้เขาเป็นเด็กงอแงได้ค่ะ

สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป การตอบสนองความต้องการของลูกยังละเลยไม่ได้ แต่ในเด็กวัยนี้อาจไม่ต้องตอบสนองในทันที แต่ก็ไม่ควรทิ้งระยะนานเกินไป และระหว่างที่คุณยังไม่สามารถเข้าไปหาเขาได้ทันที คุณควรพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลเป็นเชิงปลอบประโลมให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจว่าลูกต้องการอะไรความช่วยเหลือบางอย่างและคุณกำลังพยายามจะตอบสนอง

แม่บางคนใช้วิธีสอนควบคู่ภาษาสัญลักษณ์ (Sign Language) เช่น ทำปากหมุบหมับและนำมือมาจ่อที่ปากทุกครั้งที่พูดคำว่า “นม” เป็นต้น ในไม่ช้าลูกจะบอกคุณด้วยวิธีนี้เมื่อลูกหิว บางคนแม่ใช้วิธีสังเกตว่าเสียงร้องเป็นแบบไหน ตอนร้องลูกมองไปที่อะไร เขาร้องเวลาไหนและลองตอบสนองดู เรื่องของเรื่องคือต้องพยายามและใช้เวลาสักหน่อย พอรู้จักกัน แค่ตามองตา ไม่ต้องบอกต้องกล่าวคุณก็ตอบสนองความต้องการได้ทันท่วงที เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องฟังเสียงร้องไห้บ่อยๆ ค่ะ

นอกจากนั้นอย่าลืมว่าเรื่องการสัมผัสก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เพราะเป็นวิธีสื่อถึงความรักความอบอุ่นที่คุณถ่ายทอดให้กับลูกวิธีหนึ่งและจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจได้อีกด้วยค่ะ

 

จากเรื่อง “เตาะแตะร้องไห้ได้ตลอด “อยากบอกอะไรแม่หรือลูก”” นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับที่ 85 เดือนมีนาคม 2555

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up