ลูกโมโหจนอ้วก

Alternative Textaccount_circle
event

หากลูกโกรธมากจนร้องไห้อย่างหนักแล้วอาเจียนหนึ่งครั้งแล้วไม่เป็นอีกเลย ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงค่ะ คุณแม่อาจกังวลว่า การที่ลูกโกรธมากๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตในอนาคตหรือไม่ และเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจว่าควรตามใจลูกหรือไม่ยอมตามใจลูก จนทำให้ลูกร้องไห้อย่างหนักถึงขั้นอาเจียนหรือเสียงแหบ ควรทำดีหรือไม่ คุณแม่อาจเคยดูทีวีหรืออ่านนิยายที่พบว่า บางคนโกรธจนกระอักเลือดเสียชีวิต หรือผู้สูงอายุบางคน (เช่นพ่อพระเอกในเรื่องสวรรค์เบี่ยง) โกรธมากจนความดันขึ้น เส้นเลือดสมองแตกหรือหัวใจวาย

 
โชคดีที่ในเด็กไม่มีภาวะอะไรเป็นข้อห้ามว่าห้ามโกรธ เพราะอย่างมากก็แค่อาเจียนเอาอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปอิ่มๆ ออกมา หรือเสียงแหบไป 3 – 4 วัน หากไม่อยากให้ลูกอาเจียน ก็ให้พึงระวังอย่าทำให้ลูกโกรธหลังกินอิ่มใหม่ๆ (แต่เด็กบางคนก็มีปัญหากล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหารไม่แข็งแรงอยู่แล้ว จะอาเจียนได้ง่ายตลอดเวลา) แต่การไม่ทำให้ลูกโกรธไม่ได้แปลว่าให้ตามใจลูก เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อนิสัยของลูก ทำให้เป็นคนเอาแต่ใจ ขัดใจไม่ได้ และสังคมไม่ยอมรับ ท้ายที่สุดตัวลูกเองจะเป็นคนที่ไม่มีความสุข

 
การฝึกให้ลูกไม่เป็นคนโกรธง่าย ขั้นแรกคือ คุณต้องควบคุมอารมณ์ให้นิ่ง ไม่โมโหหรือหงุดหงิดโต้กลับ ควรใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เอาของเล่นมาล่อหรือทำตลกให้ลูกดู เพื่อให้เขาลืมเรื่องที่โกรธอยู่ ไม่ยั่วยุเย้าแหย่ลูก คอยสังเกตอย่าให้ลูกหิว ง่วงนอน หรือเริ่มเหนื่อย เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ฉุนเฉียวง่าย ควรสอนให้ระงับความโกรธเป็น โดยการเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ นับ 1 – 10 คุณแม่ทดลองดูนะคะ

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up