รวมเหตุ “ความกลัว” ของวัย 1-3 ปี

Alternative Textaccount_circle
event

ย่างเข้าสู่ขวบปีที่ 2 พัฒนาการของลูกจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นหนังคนละม้วนกับขวบปีแรกทีเดียว ด้วยพัฒนาการนี้เองเป็นที่มาต่างๆ ของความกลัวร้อยแปด…

เพราะความรู้ยังน้อยนัก วันหนึ่งๆ ของเด็กวัยนี้ทำให้เขาได้ความคิดและมองเห็นนั่นนี่โน่นเป็นเรื่องใหม่ๆ เป็นร้อยๆ เรื่อง และที่สำคัญ เจ้าเตาะแตะก็สามารถรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ได้รับรู้เหล่านั้นแหละมาร้อยเรียงและตกตะกอนเป็นบทภาพยนตร์เขย่าขวัญตัวเอง อะไรเป็นสาเหตุให้ลูกวัยเตาะแตะรู้สึก “กลัว” มาดูกันค่ะ

1. ประสบการณ์ยังอ่อนนัก

ถึงเขาพอจะเข้าใจเรื่องเหตุและผลอยู่บ้างแล้ว แต่เพราะประสบการณ์น้อย เหตุและผลของเขาก็จะเป็นแบบไม่เป็นเหตุผลก็ได้ อย่าได้แปลกใจถ้าลูกจะกลัวเครื่องดูดฝุ่นหรือท่อน้ำ “เพราะถ้าเครื่องดูดฝุ่นมันดูดเศษขยะได้ แล้วมันจะดูดหนูเข้าไปด้วยไหม” หรือ “น้ำไหลลงท่อไปแบบนี้แล้ว คนก็อาจไหลลงไปได้ ยิ่งคนตัวเล็กแบบเขาด้วยก็ยิ่งโดดดูดไปง่ายๆ สิ”

2. ขนาดก็เป็นต้นเหตุความกลัวได้

การอยู่ท่ามกลางมนุษย์โลก (ที่ดูคล้ายยักษ์ในนิทาน) ก็เป็นอีกเหตุของความกลัวได้ง่ายๆ จินตนาการพุ่งปรี๊ด จินตนาการเป็นสิ่งที่สร้างความสนุกได้ไม่สิ้นสุด แต่ถ้าการเล่นนั้นพาเขาเข้าไปในโลกที่ต่างจากความสุขสบายภายในห้องนอน เช่น ไปเข้าถ้ำแม่มดหรือปราสาทมืด ก็ทำให้ตัวเล็กกลัวได้อีก

3. จำอะไรได้นานขึ้น

ทารกลืมเรื่องราวน่ากลัว น่าตกใจ หรือหงุดหงิดอารมณ์เสียได้เร็ว ซึ่งต่างกับเด็กวัยเตาะแตะที่อาจจำเหตุการณ์นั้นเป็นเวลาพักใหญ่ การถูกแมวข่วน การโดนเหวี่ยงชิงช้าขึ้นไปสูงๆ การตกบันได หรือฟังเรื่องเล่าน่ากลัว อาจทำให้เขากลัวแมว กลัวชิงช้า กลัวการขึ้นบันได หรือกลัวแอ๊ปเปิ้ลเพราะคิดว่ามียาพิษอยู่ก็ได้

4. ถือตัวเองเป็นใหญ่

วัยเตาะแตะคือช่วงที่ถือตัวเองเป็นศูนย์กลางอย่างสุดขั้ว ของเล่นทุกอย่างเป็นของเขา ทุกคนต้องสนใจเขา เขาต้องได้มีส่วนร่วม ฉะนั้นอาจมีบ้างที่เขาจะกลัว เพราะคิดว่าตัวเองอาจโดนผึ้งกัดเหมือนเด็กหญิงในนิยาย หรือตัวเองกำลังโดนยักษ์ไล่ทำร้ายอย่างตัวเอกในนิทาน

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up