3 วิธีง้ายง่าย สอนลูกเตาะแตะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

Alternative Textaccount_circle
event

ลูกน้อยวัย 2 ขวบที่ไม่รู้จักกลัวอะไรบ้างเสียเลย อยากข้ามถนนไปที่สวนสาธารณะโดยไม่จูงมือคุณ คุณรีบคว้าตัวลูกไว้แล้วบอกว่าต้องคอยแม่ก่อนนะ แต่ก่อนที่คุณจะรู้ตัว เจ้าตัวแสบก็ลงไปดิ้นพราดๆ และตะเบ็งเสียงแปดหลอดอยู่ที่พื้นแล้ว ถ้าเจ้าหนูเข้าใจว่าควรข้ามถนนพร้อมผู้ใหญ่ และรู้ว่าถ้าไม่เชื่อฟังอาจเกิดอันตรายได้ก็คงจะดีใช่ไหมคะ

เด็กวัยเตาะแตะต้องอาศัยเวลาและการช่วยชี้แนะในการเรียนรู้ว่าจะจัดการกับความท้าทายและข้อขัดแย้งได้อย่างไร เพราะการแก้ปัญหาเป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการมีมารยาทหรือการบวกลบคูณหาร

วิธีง่ายๆ ช่วยลูกพัฒนาทักษะแก้ปัญหา

1. ให้โอกาสลูกเผชิญความท้าทายด้วยตัวเอง

ปล่อยให้ลูกหาทางปีนขึ้นไปบนเครื่องเล่นเอง ไม่ใช่รีบอุ้มเขาขึ้นไปตั้งแต่แรก เขาจะได้พัฒนาทักษะด้านการใช้เหตุผล ถ้าลูกมีทีท่าว่าจะทำไม่ได้และเริ่มหงุดหงิด ก็อุ้มลงมาแล้วพาไปเล่นของอย่างอื่นที่เขามั่นใจในความสามารถของตัวเองมากกว่า เช่น กระดานลื่น หรือไม้กระดก

2. เป็นตัวอย่างที่ดี

ลูกวัยเตาะแตะมักชอบเลียนแบบพฤติกรรมของแม่ คุณจึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับลูก เช่น ถ้าคุณควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพราะเผลอทำแพนเค้กไหม้ ลูกก็มักจะมีพฤติกรรมคล้ายๆกันเมื่อทำอะไรผิดพลาด คุณจึงควรหายใจลึกๆ หาวิธีแก้ปัญหาในทางที่สร้างสรรค์ และพูดถึงสิ่งที่คุณคิดออกมาดังๆ ลูกจะได้เรียนรู้ว่าคุณจัดการกับปัญหาอย่างไร

3. ไม่บ่นลูกแบบพร่ำเพรื่อ

เด็กวัย 2 ขวบยังไม่พร้อมหรือไม่เก่งพอที่จะเข้าใจว่า เหตุใดการกระทำหลายๆ อย่างที่เขาทำไปตามธรรมชาติจึงเป็นเรื่องผิด อย่าอารมณ์เสียถ้าลูกจงใจคว่ำถังขยะเล่น เพราะเขาแค่อยากจะสำรวจดูว่าข้างในถังมีของอะไรบ้าง พูดกับลูกสั้นๆว่า “ขยะต้องอยู่ในถังนะจ๊ะลูก” โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าเป็นเพราะมันสกปรก หรือทำให้บ้านรก หรือทำให้คุณต้องเก็บกวาดจนเหนื่อย ถึงอย่างไร ลูกก็คงจะทำแบบนี้อีก (และทำไปเรื่อยๆ) แต่ในที่สุดเขาจะเข้าใจได้เองว่าทำไมจึงไม่ควรทำ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up