“สมองส่วนหน้า” ชี้ชะตาชีวิต ลิขิตความฉลาด

Alternative Textaccount_circle
event

สมองส่วนหน้าบาดเจ็บ สร้างแผลเป็นทั้งชีวิต
“เด็กวัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่ดี หมายถึงพ่อแม่มีฐานะ การศึกษาดี แต่ลูกกลับมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นอันธพาล มักต่อต้านกฎระเบียบต่างๆ ต่อต้านสังคม ชอบใช้ความก้าวร้าวและพฤติกรรมรุนแรงนั้น เมื่อศึกษาลึกลงไปจะพบว่ามีสาเหตุจากความพิการของสมองส่วนหน้า (Fontallobe syndrome) เข้ามาเกี่ยวข้องได้เสมอ

 
“เวลานี้มีเด็กไทยตั้งแต่ประถมถึงมัธยมต้นนับแสนคนที่ติดยาบ้า และมีความเข้าใจผิดมากว่า เด็กที่ติดยาเสพติดยาบ้า ยาไอซ์ และอื่นๆ มักเป็นเด็กจากชนบท ชุมชนสลัมต่างๆ แต่เฉพาะยาบ้าตอนนี้เม็ดละ 150 บาท คุณคิดว่าเด็กจากครอบครัวแบบไหนจึงจะหาซื้อได้ และจากการศึกษาเรื่องสมองและยาเสพติดก็พบว่า เครือข่ายค้ายาเสพติดก็มีอยู่ในโรงเรียนที่มีเด็กจากครอบครัวฐานะดีมาเรียน

 
“เหตุจากสมองส่วนหน้าบาดเจ็บจนส่งผลให้วัยรุ่นติดยาบ้าได้ง่าย มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ไม่รู้ เหตุที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงไม่รู้ ก็เพราะไม่จำเป็นต้องบาดเจ็บรุนแรงถึงกับเลือดตกยางออกให้เห็น เพียงแค่เด็กล้มหน้าผากฟาดพื้นชนขอบโต๊ะ เตียง ก็ทำให้เซลล์สมองบาดเจ็บ ทำให้สมองส่วนหน้าทำงานไม่สมบูรณ์ได้แล้ว”

 
สมองส่วนหน้านายใหญ่ของสมองทั้งหมด
“สมองส่วนหน้า” (Prefrontal) อยู่หลังหน้าผากของเราทุกคน เป็นสมองที่ต่อออกมาจากสมองส่วนที่สาม(Neocortex) ที่ควบคุมการรับรู้ การเรียนรู้ ทักษะความชำนาญ ความคิด และความเฉลียวฉลาด สมองส่วนหน้าเปรียบเป็นประธานหรือนายใหญ่ของสมองทั้งหมด จึงเป็นสมองส่วนสำคัญที่สุด

 
นายของสมองสำคัญ (แค่ไหนเชียว)
• (แค่) เป็นเจ้าของชีวิต ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นคนนี้ เวลาเราตื่นสมองส่วนนี้ก็ทำงาน เวลาหลับสมองส่วนนี้ไม่ทำงานเมื่อเราตื่น เรารู้สึกตัว ะลึกได้ว่ากำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร คิดวางแผนได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ควบคุมความคิดการตัดสินใจได้ก็เพราะสมองส่วนหน้าทำงาน
สมองส่วนหน้าเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงอายุ 1 – 2 ขวบทำให้เด็กๆ รับรู้แบบเข้าใจว่าตัวเองกำลังอยู่ที่ไหน เวลาไหนทำอะไรอยู่ ทำให้เขาควบคุมพฤติกรรมได้ เมื่อโตขึ้น 3 – 4ขวบ สมองก็พัฒนาตัวเองไปอีก สามารถรู้ว่าต้องปฏิบัติกับใครอย่างไร เริ่มวางแผนได้ว่าตัวเองอยากทำอะไร เมื่อไรชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อะไรพอใจเป็นความสุข อะไรเป็นความไม่พอใจเป็นทุกข์ และเป็นสมองส่วนที่ทำให้รู้จักผิดชอบชั่วดี มีพัฒนาการทางจริยธรรม และพัฒนาเป็นความคิดชั้นสูงไปเรื่อยๆ ตามวัยที่เปลี่ยนไป

 
• ถ้าเราไม่มีสมองส่วนหน้าก็ (แค่) ไม่สามารถหลอมความคิดจากสมองส่วนต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียวได้

 
• (แค่) เป็นสมองที่กำหนดความเป็นอัจฉริยะ “สมองส่วนหน้าเป็นสมองที่เรียนรู้ได้เอง เมื่อถึงระดับหนึ่งจะปุจฉา(ถาม) วิสัชนา (ตอบ) เอง เพียงแต่ตอนเล็กๆ ต้องได้รับปัจจัยส่งเสริมที่ดี ได้แก่ ได้อาหารครบหมู่ มีการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม และเมื่อโตขึ้นก็เรียนรู้อย่างอิสระเพียงโอกาสนิดเดียว สมองจะหาทางเดินได้เอง อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นอัจฉริยะก็เพราะสมองส่วนนี้คุณสมบัติหนึ่งของอัจฉริยะคือมีสมาธิดีมาก ทำอะไรจดจ่อได้นานๆ ซึ่งต่างจากคนธรรมดาที่มีอะไรแทรกเล็กน้อยก็วอกแวก ปล่อยสิ่งที่ทำตรงหน้าได้ง่าย”

 

 

 

เจ้านายสมองลูกบาดเจ็บ สมาธิสั้นแฝงจะมาเยือน
ทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวา โดย นพ. ดร.อันโตนิโอ ดามาสซิโอ แพทย์ทางระบบประสาท และภรรยา ดร.ฮันนา ดามาสซิโอ ได้วิจัยติดตามเด็กเล็กเมื่ออายุ 1 ขวบหรือ 1 ขวบครึ่งเคยได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น หกล้มศีรษะส่วนหน้าผากฟาดพื้น ทำให้สมองบริเวณนั้นเกิดอาการช้ำ และติดตามเด็กกลุ่มนี้ไปจนเป็นวัยรุ่น ก็พบว่ามีอาการทางประสาท เรียกว่า “สมองส่วนหน้าพิการ” ทำให้มีอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit หรือ AD) ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอาการสมาธิสั้นแฝง และทำให้เด็กประสบปัญหาไปตลอดชีวิต

 

 

 

อาการสมาธิสั้นแฝงเพราะสมองส่วนหน้าบาดเจ็บ ดูอย่างไร
อาการของเด็กที่สมองส่วนหน้าได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมักเกิดได้ตั้งแต่ช่วง 1 – 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มหัดเดินมีโอกาสเกิดการหกล้มหน้าผากฝาดพื้นได้ และหากเกิดการบาดเจ็บแล้วไม่ได้รักษา อาการที่สังเกตได้ตั้งแต่เล็กๆได้แก่
– เด็กจะไม่นิ่ง ไม่เงียบ วิ่งพล่าน ทำอะไรเลอะเทอะไปทั่ว เล่นข้าวของกระจัดกระจาย สอนให้เก็บอย่างไรก็ทำไม่ได้ แล้วจะค่อยๆ เริ่มทำอะไรเพี้ยนๆ ไม่ถูกกาลเทศะ

 

– โตขึ้นเข้าวัยเรียน จะเป็นเด็กที่ขาดความรับผิดชอบระเบียบวินัย แม้จะเป็นเด็กมีไอคิวสูง แต่เพราะไม่มีสมาธิจึงมีปัญหาการเรียนและพฤติกรรมไม่เหมาะสม
เช่น เวลาขัดใจจะหุนหันพลันแล่น โวยวาย ใช้กำลังแก้ปัญหา ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่มีกาลเทศะ ไม่ชอบกฎเกณฑ์ต่างๆ

 

– โตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น พฤติกรรมไม่เหมาะสมก็ยิ่งมากขึ้น เช่น เป็นอันธพาลในชั้นเรียน จนเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มติดยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสม มีโอกาสถูกจับอยู่ในสถานพินิจ เป็นวัยรุ่นที่ต้องคดีถ้าไม่ดูแลต่อ สุดท้ายเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องไปอยู่ในเรือนจำเสียคนไปตลอดชีวิต”

 

สมาธิสั้นแฝงกับสมาธิสั้นจริงต่างกันอย่างไร
“สมาธิสั้นแฝง เกิดจากสมองส่วนหน้าบาดเจ็บตั้งแต่เด็กอาการสมาธิสั้นแฝงต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้นจริงๆ แล้วก็ส่งผลให้เด็กไม่สบายใจไม่เป็นสุข เพราะทำให้เขารู้สึกไม่มีที่ยึดเหนี่ยว คิดฟุ้งซ่านจึงต้องหาอะไรที่มาแก้ ซึ่งก็มาเจอในยาบ้า หากเด็กตกอยู่ในวงจรนี้ การแก้ไขทำได้ยาก

 

“ส่วนกลุ่มอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactive Disorder-ADHD) แท้ๆ เกิดจากสารสื่อประสาท (ในสมองส่วนหน้า) ที่ชื่อว่า “โดปามีน” (Dopamine)ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมให้มีสมาธิ นิ่ง ไม่วอกแวกทำงานบกพร่องหรือไม่ทำงาน รักษาได้ด้วยยาและการปรับพฤติกรรม ปัจจุบันเชื่อว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้สารสื่อประสาทนี้ทำงานบกพร่องไป เช่น สารพิษหรือมลภาวะในสิ่งแวดล้อม

 

“จากการทำวิจัยเรื่องเด็กสมาธิสั้นในโรงเรียน เราพบว่าเด็กที่เป็นสมาธิสั้นแฝงมีอยู่ประมาณ 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของเด็กไทยทั่วไป และมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่าอีก 20 ปี เด็กกลุ่มนี้จะต้องไปอยู่ในสถานพินิจ

 

“ส่วนเด็กที่เป็นสมาธิสั้นแท้ๆ คือรักษาด้วยการกินยาและปรับพฤติกรรมแล้วอาการดีขึ้นที่พบในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม มีประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

 

 

สำคัญ! ดูแลเจ้านายของสมองไม่ให้บาดเจ็บ
การบาดเจ็บของสมองส่วนหน้ามีสาเหตุหลักๆได้แก่

 

• พบมากที่สุด คือ บาดเจ็บเนื่องจากหกล้ม แล้วศีรษะส่วนหน้าฟาดกับพื้น หรือกับสิ่งของ ขอบโต๊ะ ขอบเตียงฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการล้มฟาดจนเลือดตกยางออก เป็นแผลแตกภายนอกให้เห็น

 

• รองลงมา คือ การถูกต่อย ถูกตี เพราะในครอบครัวใช้ความรุนแรง

 

• อันดับสาม คือ การขาดอาหารที่สำคัญ ได้แก่ โปรตีน น้ำมันปลา วิตามินรวมทั้งขาดการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม เพราะช่วงวัยนี้สมองส่วนนี้ต้องการทั้งอาหารและการเลี้ยงดูที่เหมาะสมทำให้เซลล์ประสาทส่วนนี้ไม่ได้รับการพัฒนา

 
ใครจะนึกว่าเด็กล้มหน้าผากฟาดพื้นจะทำให้เซลล์ประสาทที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วตายไป แล้วก็บาดเจ็บ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ และถึงกับทำให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็น ‘เด็กตกขอบ’ ไม่มีระเบียบวินัย ขาดความรับผิดชอบ เกิดสมาธิสั้น มีปัญหาการเรียน และเพราะสมาธิสั้นก็ทำให้เขาควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ เป็นอันธพาลก็ได้ ไปจนถึงไขว่คว้าหา ‘ยาเสพติด’ เพื่อบรรเทาทุกข์จากความรู้สึกเคว้งคว้างเพราะอาการสมาธิสั้นที่เกิดขึ้น จนพาตัวเองไปสู่การกระทำผิดถึงขั้นหมดอนาคตเสียคนได้

 

 

บทความโดย: ดร.นัยพินิจ คชภักดี

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up