วัย 2.5 เดือน เข้าใจวัตถุเคลื่อนที่ & อยู่กับที่

Alternative Textaccount_circle
event

ความเข้าใจว่าวัตถุที่เคลื่อนที่อาจกระแทกหรือชนวัตถุที่อยู่กับที่จนขยับหรือล้มได้ คือข้อพิสูจน์ว่าสมองของลูกน้อยทำงานไปอีกขั้น และยังทำให้ลูกน้อยรู้จักการเล่นที่สนุกยิ่งขึ้น

 

 

 
ผลวิจัยที่เกี่ยวข้อง

 
นักวิจัยทำการทดลองทั้งแบบที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ โดยเริ่มจากการกลิ้งลูกบอลลงมาตามทางลาด และลูกบอลก็ทำให้ของเล่นที่วางไว้ปลายทางลาดขยับเมื่อโดนชน ซึ่งหลังจากที่ได้ดูการทดลอง 2-3 ครั้ง ทารกวัย 2½ เดือนก็เริ่มคุ้นเคยและหมดความสนใจ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจว่านี่คือเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด

 
จากนั้นนักวิจัยก็เปลี่ยนไปทำการทดลองแบบที่เป็นไปไม่ได้บ้าง คือจะกลิ้งลูกบอลใบเล็กๆ ลงมาตามทางลาด แม้ลูกบอลทำให้ของเล่นที่มีขนาดใหญ่กว่ามากขยับเมื่อโดนชน แต่ทารกวัยนี้ก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นเรื่องน่าแปลกอีกเช่นกัน

 
อย่างไรก็ดี ทารกวัย 6½ เดือนที่ได้ดูการทดลองแบบที่ 2 กลับจ้องลูกบอลใบเล็กที่ทำให้ของเล่นชิ้นใหญ่ขยับเมื่อโดนชนอยู่นานมาก ซึ่งชี้ให้นักวิจัยเห็นว่าทารกที่โตกว่าเหล่านี้เข้าใจดีว่านี่คือเหตุการณ์ที่เป็นไปไม่ได้

 
พูดง่ายๆ คือในวัย 2½ เดือน ทารกแค่เข้าใจว่าลูกบอลใบเล็กที่กลิ้งลงมาชนของเล่นชิ้นใหญ่คือสิ่งที่ทำให้ของเล่นชิ้นนั้นขยับ แต่พอถึงวัย 6½ เดือน เขาจะเริ่มมองเหตุการณ์นี้โดยนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาด้วย เช่น ขนาดลูกบอล ขนาดของเล่น และลูกบอลจะทำให้ของเล่นขยับไปได้ไกลสักแค่ไหน หรือจะทำให้ขยับได้หรือเปล่า ซึ่งนี่ก็ทำให้เห็นว่าสมองของลูกน้อยทำงานก้าวหน้าไปอีกขั้นแล้ว

 

 

 
เติมความเข้าใจได้อีก

 
หาลูกบอลขนาดต่างๆ มาสัก 2-3 ใบ ใช้เขียงพาดขอบโซฟาเพื่อทำเป็นทางลาด จากนั้นก็นำของเล่นที่มีรูปทรง น้ำหนักและขนาดแตกต่างกันมาวางไว้ที่ปลายทางลาดทีละชิ้น แล้วกลิ้งลูกบอลลงมาชนทีละใบ โดยระหว่างที่เล่นกับลูก ให้คุณคอยสังเกตว่าเขาจ้องลูกบอลและของเล่นคู่ไหนนานที่สุด เพราะนั่นแปลว่าเขากำลังนำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาด้วย ที่สำคัญคือเขาน่าจะชอบเล่นเกมนี้ไปอีกนานเลยล่ะ

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียล พาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up