9 เดือน รู้แล้วว่าแม่มีอยู่จริงๆ

Alternative Textaccount_circle
event

ถึงตอนนี้คุณคงเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งนอกจากจะเรียกรอยยิ้มจากเขาได้แล้ว การเล่นจ๊ะเอ๋ก็ยังทำให้เขาเข้าใจแนวคิดที่เรียกว่า วัตถุนั้นยังคงอยู่ แม้จะมองไม่เห็น (Object permanence) มากขึ้นด้วย

 

และพอเขาอายุราว 9 เดือน ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ก็จะพัฒนาไปอีกขั้น คือพอคุณใช้ผ้าเช็ดมือคลุมกุญแจไว้ทั้งพวง เขาก็จะเลิกผ้าเช็ดมือให้เห็นพวงกุญแจที่ซ่อนอยู่ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน เขาก็จะไม่สนใจ เพราะการไม่เห็นอะไรเลยยังคงแปลว่าพวงกุญแจไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว
นี่เป็นพัฒนาการสำคัญที่ทำให้ลูกน้อยเริ่มเข้าใจแล้วว่า แม่ของเขามีอยู่จริง

 

ชอบสุดๆ เกมซ่อนหา
นักวิจัยทำการทดลองโดยใช้ทารกวัย 6-9 เดือนเป็นกลุ่มตัวอย่าง และพบว่าทารกวัย 9 เดือนจะหาสิ่งที่ซ่อนอยู่อย่างกระตือรือร้นและทำแบบนั้นซ้ำๆ แถมยังมีรายงานว่าทารกหญิงวัย 11 เดือนทำการทดลองด้วยตัวเองโดยใช้ผ้าเช็ดโต๊ะและจานใบเล็กๆเป็นอุปกรณ์อีกต่างหาก
หนูน้อยคนนี้คงตั้งสมมติฐานว่า “จานจะยังคงอยู่ แม้จะมองไม่เห็น” (เพราะใช้ผ้าเช็ดโต๊ะคลุมไว้) แล้วทำการทดสอบสมมติฐานข้างต้นโดยหยิบจานมา 1 ใบ ซ่อนจานไว้ใต้ผ้าคาดโต๊ะ รอสักพัก จากนั้นก็เลิกผ้าให้เห็นจานที่ซ่อนอยู่ โดยคุณแม่เล่าว่าแม่หนูทำการทดลองวันละหลายๆครั้งเป็นเวลาถึงประมาณ 1 สัปดาห์เลยทีเดียว

 

นั่นแปลว่าจะต้องมีสิ่งที่ลูกค้นพบจากการเล่นอะไรซ้ำๆทุกวัน โดยเขาจะชื่นชอบเกมซ่อนและหาของไปจนถึงราวๆ 2 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่การเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด object permanence มีความสมบูรณ์แบบ แต่การเล่นจ๊ะเอ๋และซ่อนหาก็จะยังเป็นเกมที่เขาชอบไปอีกหลายเดือน หรืออาจจะอีกหลายปีเลยทีเดียว

 

ซ่อนของ…ลูกชอบ  แต่แม่ซ่อน…ลูกไม่ปลื้มนะจ้ะ
ถ้าคุณอยากส่งเสริมให้ลูกสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด object permanence เขาก็ควรจะได้เล่นจ๊ะเอ๋ หาของแบบง่ายๆ อย่างที่คุณคุ้นเคยกันไปเรื่อยๆ เพราะนอกจากจะเป็นความสนุกที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัยแล้ว เกมดังกล่าวก็ยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคุณทั้งคู่ด้วย เพราะถึงแม้ว่าลูกน้อยจะรู้แล้วว่าแม่มีจริง แต่เนื่องจากพัฒนาการที่ยังไม่สมบูรณ์ เวลาที่คุณจะออกจากบ้านไปทำงาน หรือปลีกตัวไปหยิบข้าวของ ไปเข้าห้องน้ำชั่วประเดี๋ยว ก็ทำให้เบบี๋ร้องไห้จ้าได้

 

คำแนะนำง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยคือ ไม่หนี ไม่แอบ ไม่ซ่อน เมื่อต้องลาจากลูกน้อยวัยนี้ ให้เขาเห็นว่าคุณเดินจากไป และจะกลับมาหาเขาในตอนเย็น หรือในเวลาไม่นาน และควรทำให้การลากันเป็นเรื่องธรรมดา หอมแก้มบอกลากันสั้นๆ เช่น แม่ไปทำงานแล้วเย็นนี้เจอกันจ้ะ แม่ไปหยิบขวดน้ำของหลังบ้านเดี๋ยวมานะ แล้วการร้องของลูกน้อยจะไม่นาน

 

หากคุณร่ำไร โศกเศร้าน้ำตาท่วมจอทุกครั้งที่จากกัน นั่นจะยิ่งทำให้ลูกร้องหนักขึ้น และไม่ได้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการใดๆ ของลูกเลย

 

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up