สร้างลูกน้อย ให้ฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

Alternative Textaccount_circle
event

วันนี้เสนอเรื่องที่ 4 ความฉลาด (หรือปัญญา) ด้านมิติสัมพันธ์ (Visual Spatial) ซึ่งก็คือความสามารถในการสร้างภาพ การแปลความหมายรูปภาพ การสร้างแผนผัง แนวคิด กรอบความคิด จินตนาการ การเขียนภาพ ฯลฯ

 
บุคคลตัวอย่างในด้านนี้ เช่น สถาปนิก มัณฑนากร ศิลปิน นักประดิษฐ์ ผู้กำกับการแสดง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภาพยนตร์ทุกเรื่องของเจมส์ คาเมรอน ประสบผลสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะเรื่องล่าสุด Avatar หนังสามมิติซึ่งผสมผสานจินตนาการและเทคนิคแอนิเมชั่น สะท้อนการมองเห็นภาพในใจ สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ได้งดงามและน่าทึ่ง จนมีผู้ชมจำนวนไม่น้อยอยากไปอยู่ดาวแพนโดร่าอย่างในภาพยนตร์

 
คนดังของไทยที่เป็นตัวอย่างเรื่องของมิติสัมพันธ์ก็เช่น คุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับชื่อดัง ที่ต้องวาดภาพลงสตอรี่บอร์ดทุกครั้งก่อน จึงจะเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์

 
หรือแม้แต่ในวงการแพทย์ก็ต้องคิดค้นวาดภาพเครื่องมือต่างๆ เช่น กล้องส่องภายใน เครื่องมือสายสวนเส้นเลือดหัวใจรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นต้น ความถนัดหรือความสามารถด้านนี้จึงสำคัญ ช่วยส่งเสริมความคิด จินตนาการ นวัตกรรมต่างๆ ให้รุดหน้าอย่างไม่หยุดยั้งแววของเด็กในด้านมิติสัมพันธ์ เช่น

 
1. หลับตาเห็นภาพอย่างชัดเจน

 
2. รู้สึกไวต่อสี

 
3. ชอบใช้กล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ

 
4. สนุกกับการเล่นเกม ปริศนาต่างๆ ที่ใช้การมอง

 
5. ชอบวาดภาพ ขีดเขียน

 
6. ชอบฝันถึงอนาคต สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ

 
7. สามารถจินตนาการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 
8. ชอบใช้แผนภูมิในการแสดงผลงาน ชอบบันทึกด้วย Mind Map

 
9. ชอบเรียนวิชาศิลปะวาดเขียนมากกว่าคำนวณหรือสังคม

 
10. ชอบอ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยภาพประกอบมากกว่ามีแต่ตัวหนังสือ

 
11. ชอบดูแผนที่ หรือสามารถนำทางได้ดี

 
12. เข้าใจแบบแปลน แผนภูมิ มีมุมมองที่ต่างจากคนอื่นๆ

 
13. สามารถประกอบแบบจำลองหรือสิ่งประดิษฐ์ เช่น หุ่นยนต์ ด้วยความคล่องแคล่ว

 
14. สามารถอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย แปลกใหม่ได้ โดยไม่มีปัญหา

 
15. ชอบเข้าชมนิทรรศการ ผลงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะภูมิทัศน์

 
หากมีแววตั้งแต่ 12 ข้อขึ้นไปก็น่าจะเป็นอัจฉริยะด้านนี้ครับ

 
วิธีการส่งเสริมด้านนี้ก็คือ การส่งเสริมพัฒนาสมองด้านขวา (สำหรับคนถนัดมือขวา) เป็นด้านเกี่ยวกับศิลปะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์

 
มีหลักสูตรและตำรามากมายที่กล่าวถึงการส่งเสริมสมองซีกขวาของลูก แต่ที่มาแรงและส่งเสริมกันในวงกว้างในช่วง 10 ปีนี้ก็คือคำว่า Mind Map ซึ่งเป็นการจำลองสมอง หลักการทำงานของเซลล์ประสาทและเส้นประสาท

 
การเชื่อมโยงหลักก็คือ การบันทึกและจำโดยใช้แผนภูมิ และภาพประกอบ จะช่วยให้จำและบันทึกได้เป็นระบบ ง่ายต่อการจำและนำไปใช้ จึงอยากเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่สอนให้ลูกหลานใช้ Mind Map เป็นเครื่องมือในการจดบันทึกและเรียนรู้ครับ

 
นอกจากนี้การเข้าชั้นเรียนเกี่ยวกับการวาดภาพ ระบายสี ชมนิทรรศการ ภาพถ่าย ผลงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็มีส่วนช่วยได้มาก ดังสุภาษิตจีนที่กล่าวว่า ภาพหนึ่งภาพแทนคำนับพันคำนะครับ

 
สำหรับในวัยเด็กเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกหนังสือที่เต็มไปด้วยภาพต่างๆ ทั้งภาพวิว ภาพอาคาร ภาพสิ่งของ ให้ลูกดูพร้อมกับอธิบายไปด้วยว่าคืออะไร จะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาสมองซีกขวาได้ดีครับ

 

 

บทความโดย: นายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง กุมารแพทย์

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up