ลูกไม่เคี้ยวข้าว

ลูกไม่เคี้ยวข้าว กลืนอย่างเดียว ทำไงดี?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกไม่เคี้ยวข้าว
ลูกไม่เคี้ยวข้าว

เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ก็ถึงเวลาที่ลูกจะต้องปรับการรับประทานอาหาร โดยเพิ่มอาหารชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจากนมแม่ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อ คุณแม่มักเป็นกังวลคือห่วงว่าลูกจะรับประทานอาหารติดคอ บางคนจึงให้ลูกน้อยรับประทานแต่ของเหลว จนอาจทำให้ ลูกไม่เคี้ยวข้าว ในอนาคตได้

 

การให้เด็กๆ รับประทานแต่อาหารเหลว หรือน้ำ เพราะห่วงว่าลูกน้อยจะติดคอนั้น เป็นความหวังดีของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะส่งผลต่อพัฒนาการการบดเคี้ยวของลูกน้อยได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและนักโภชนาการต่างย้ำเสมอว่า ต้องปรับให้ลูกน้อยได้รับอาหารที่มีเนื้อหยาบขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ฟัน และฝึกการบดเคี้ยว จนสามารถรับประทานอาหารชนิดแข็งได้ เพราะการเคี้ยวอาหารเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ที่ควรจะฝึกก่อน 1 ขวบ หากช้ากว่านั้นอาจต้องใช้ความอดทนในการฝึก และใช้เวลามาก

ลูกไม่เคี้ยวข้าว แก้ได้ยังไง?

1. เข้าใจ

การที่ลูกไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้นั้น ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เกิดจากลูกไม่เคยได้รับการฝึกมาก่อน ช่วงแรกของการฝึก หากลูกยังไม่ยอมเคี้ยว หรือบ้วนทิ้งนั่นก็เพราะอาจจะไม่คุ้นกับรสสัมผัสแบบใหม่ หรือเขาไม่ชอบเคี้ยว ดังนั้นช่วงแรกๆ ควรจัดอาหารชนิดเดิมประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้ลูกคุ้นเคยก่อนแล้วค่อยๆ เปลี่ยนชนิดอาหาร เช่น ปกติลูกกินแต่โจ๊ก คุณแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวต้มกับเนื้อสัตว์เพียงชนิดเดียวก่อน แล้วเปลี่ยนชนิดของเนื้อสัตว์ จนลูกคุ้นกับข้าวต้มจึงค่อยเปลี่ยนเป็นข้าวสวยตามลำดับ

ลูกไม่ยอมเคี้ยวข้าว
ปกติลูกกินแต่โจ๊ก คุณแม่ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นข้าวต้มกับเนื้อสัตว์เพียงชนิดเดียวก่อน

 

ลูกไม่เคี้ยวข้าวกลืนอย่างเดียว ทำไงดี? (ต่อ)

2. ให้มีส่วนร่วม

ลูกในวัยนี้เริ่มทำอะไรได้ด้วยตัวเองได้แล้ว และบอกความต้องการของตัวเองได้บ้าง เขาควรได้โอกาสมีส่วนร่วมในกิจวัตรประจำวันของเขา หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกรับประทานอาหารบนเก้าอี้ แล้วป้อนให้เสร็จๆ ไป อาจทำให้ช่วงเวลาในการรับประทานอาหารของลูกไม่มีความสุข ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกไปเลือกจานชาม ถือช้อนเอง ตักกับข้าวบ้าง ต้องเลอะเทอะและเหนื่อยเก็บเช็ดกันบ้าง แต่แลกกับลูกรู้สึกดีกับการรับประทาน และไม่ต้องเสียน้ำตากันเวลารับประทานข้าวอีกด้วย

ลูกไม่เคี้ยวข้าว กลืนเลย
ลองเปลี่ยนเป็นชวนลูกไปเลือกจานชาม ถือช้อนเอง ตักกับข้าวบ้าง

3. ให้กำลังใจ

ในการฝึกไม่ว่าเรื่องใดๆ การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าในระยะแรก ลูกจะรับประทานได้น้อย ทำหกบ้างสำลักบ้าง การทำท่าตกใจหรือดุลูก เขาอาจไม่ทำอีกหรือยิ่งร้องไห้หนักให้หัวเสียกันไปหมด คำพูดให้กำลังใจใช้ได้เสมอ เช่น “ไม่เป็นไร ลองใหม่นะ” “คำนี้เล็กหน่อย เคี้ยวได้แน่” และเมื่อลูกเริ่มรับประทานได้ก็อย่าขาดคำชม “เคี้ยวแล้ว ทำได้นี่เรา เห็นแล้วชื่นใจ” บอกความรู้สึกว่าเขาทำให้คุณดีใจขนาดไหน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าตัวเล็ก

ลูกกินข้าวน้อย
การให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าในระยะแรก ลูกจะรับประทานได้น้อย ทำหกบ้างสำลักบ้าง

4. หักดิบ

วิธีนี้อาจจะโหดไปหน่อย แต่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ใจแข็งพอ จัดเมนูที่เนื้ออาหารเป็นชิ้น เป็นคำ หยาบขึ้นทุกมื้อ และถ้าลูกไม่รับประทาน หรือเอาแต่อมลูกเดียวก็ไม่ต้องป้อนต่อ ให้เก็บอาหารเมื่อถึงเวลา โดยไม่มีอาหารว่าง หรือของกินเล่น แล้วรอเสิร์ฟมื้อต่อไป (คุณแม่รู้หรือไม่ว่าเจ้าตัวน้อยสามารถอดอาหารได้นานถึง 2 วันเชียวนะ) เชื่อว่าถ้าเขาหิวและไม่มีตัวเลือกอื่นจะไม่ยอมรับประทาน หรือไม่ยอมเคี้ยวได้อย่างไร

วิธีฝึกลูกเคี้ยวอาหาร
คุณแม่ที่ใจแข็งพอ จัดเมนูที่เนื้ออาหารเป็นชิ้น เป็นคำ หยาบขึ้นทุกมื้อ

5. ปรึกษาคุณหมอ

ถ้าลูกของคุณพ่อ คุณแม่ผ่านการฝึกมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมเคี้ยวสักที แถมมีอาการสำลักทุกครั้งที่ป้อนอาหารหยาบ หรือมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน แบบนี้แนะนำให้พาลูกน้อยไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ ดีกว่าค่ะ

ไม่เคี้ยวอาหาร
แนะนำให้พาลูกน้อยไปหาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง


บทความที่น่าสนใจ คลิก!!

“ดิปอะโวคาโดกับผักสติ๊ก” เมนูฝึกเคี้ยว เอาใจลูกวัย 1-2 ขวบ (มีคลิป)

“ต้มจืดลูกเงาะ” เมนูดีช่วย ฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร (สำหรับลูกวัย 1 ขวบขึ้นไป)

“All in Bowl ไข่ตุ๋นเคี้ยวสนุก” เมนูลูกน้อย 10 เดือน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up