สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จดทะเบียน

event

สิทธิการเลี้ยงดูลูก

การฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากผู้เป็นพ่อที่ไม่ได้จดทะเบียน

เมื่อคุณแม่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ในกรณีที่ผู้เป็นแม่มีลูกด้วยกันกับพ่อแล้ว แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกก็ถือว่าเป็นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของคุณแม่ แต่ก็เป็นลูกไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นพ่อ … ดังนั้นพ่อผู้ให้กำเนิดก็ไม่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย

แต่ถ้าคุณแม่ต้องการให้ผู้เป็นพ่อจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร คุณแม่ควรดำเนินการให้ลูกเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เป็นพ่อเสียก่อน คุณแม่จึงจะมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้

>> ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 “เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ได้สมรสกัน จะเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อพ่อแม่ได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

ซึ่งการจดทะเบียนรับรองบุตรที่ถูกต้องนั้น ต้องให้ผู้เป็นพ่อไปทำการจดทะเบียนรับรองบุตรกับนายทะเบียนที่สำนักงานเขตหรือที่อำเภอ โดยแม่ของลูกและลูกต้องให้ความยินยอม (เด็กต้องพูดให้ความยินยอม หากเด็กยังเล็กมากไม่สามารถให้ความยินยอมได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของเด็ก) ลูกจึงจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อ หรือเมื่อคุณแม่กับคุณพ่อจดทะเบียนสมรสกัน หรือเมื่อศาลพิพากษาว่าเป็นลูก เด็กก็จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพ่อโดยมีผลย้อนหลังไปนับแต่วันที่ลูกเกิด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

และเมื่อทำการจดทะเบียนรับรองบุตร เรียบร้อยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติว่า “พ่อแม่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่ลูกในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์”

และมาตรา 1598/38 “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างพ่อแม่กับลูกนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี”

ดังนั้น หากผู้เป็นพ่อไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกเลย คุณแม่ก็สามารถดำเนินการฟ้องศาลขอให้ผู้เป็นพ่อของลูกนั้นรับเด็กเป็นลูกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุในการฟ้องคดีเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1555 “ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

  • เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน
  • เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
  • เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้
  • เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
  • เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร

พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

ทั้งนี้ คุณแม่สามารถยื่นฟ้องผู้เป็นพ่อต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่คุณมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลได้ โดยในคำฟ้องฉบับเดียวกัน คุณแม่สามารถฟ้องขอให้ผู้เป็นพ่อรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในคราวเดียวกันได้ และเมื่อพ่อรับรองบุตรโดยปริยาย ลูกก็มีสิทธิรับมรดก ของพ่อได้อีกเช่นกัน  อย่างไรก็ตามหากผู้เป็นพ่อเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก ก็ย่อมมีอำนาจปกครองเด็ก ซึ่งคุณแม่ก็อาจต้องคิดถึงข้อนี้เผื่อไว้ด้วยเช่นกันนะคะ

สำหรับคุณแม่ที่ต้องการดำเนินคดีที่ศาลควรติดต่อทนายความเพื่อฟ้องผู้เป็นพ่อให้รับเด็กเป็นลูก และจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เอกสารที่ต้องใช้ในเบื้องต้น ได้แก่ ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของคุณแม่ สูติบัตรของลูก และพยานหลักฐานอื่นที่ใช้ในการฟ้องคดี ขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

อนึ่ง หากคุณแม่เป็นคนยากจนไม่มีรายได้ คุณแม่ก็สามารถร้องขอความช่วยเหลือทางคดีได้ที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย 2  สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารหลักเมือง ชั้น 1  ถนนหน้าหับเผย  แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โทร 02 223 2945 , 02 222 8121 ต่อ 101-105 หรือที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และการบังคับคดีทั่วประเทศ

อ่านต่อ >> “กรณีพ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน และหย่าขาดกันด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ลูกจะอยู่ที่ใคร” คลิกหน้า 3

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up