คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจ Ultrasound ตามช่วงอายุครรภ์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ - Amarin Baby & Kids

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรตรวจ Ultrasound ตามช่วงอายุครรภ์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

event

การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ Ultrasound เป็นการตรวจที่สำคัญสำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกันไปในแต่ละอายุครรภ์ เช่น การตรวจเพื่อกำหนดอายุครรภ์ คัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ คัดกรองโรคบางชนิด ติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือเพื่อการทำหัตถการ เป็นต้น

การ ultrasound สามารถทำได้บ่อยครั้งตามความต้องการ มีความปลอดภัยสูง การตรวจแต่ละครั้งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจ ultrasound อย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้ง อันได้แก่ ช่วงอายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ , 18-22 สัปดาห์ และ 28-32 สัปดาห์

ไตรมาสที่ 1 : ช่วงอายุครรภ์ 11-13 +6 สัปดาห์
สามารถทำเพื่อกำหนดอายุครรภ์ โดยช่วงอายุครรภ์นี้เป็นช่วงที่แม่นยำที่สุดในการกำหนดอายุครรภ์ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ โดยการวัดความหนาของต้นคอทารก ดูกระดูกจมูก ลิ้นหัวใจรั่ว ร่วมกับการเจาะเลือดมารดาเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจให้มากขึ้น สามารถดูความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายที่มีขนาดใหญ่ของทารกได้ เช่น ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ ทารกบวมน้ำ เป็นต้น
ตรวจคัดกรองภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยการตรวจวัดอัลตราซาวด์ดอพเพอร์เส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงมดลูกร่วมกับการซักประวัติปัจจัยเสี่ยงการวัดค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตมารดา และการเจาะสารชีวเคมีในเลือดมารดา จากนั้นคำนวณความเสี่ยงจากปัจจัยทั้งหมดโดยใช้สูตรคำนวณ โดยค่าความเสี่ยงที่มากกว่า 1:100 ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งการตรวจพบจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวได้โดยการใช้ยา low-dose aspirin ซึ่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทาง สามารถดูเพศของทารกได้หากทารกอยู่ในท่าที่เหมาะสม

ไตรมาสที่ 2 : ช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์
ใช้กำหนดอายุครรภ์ในกรณีที่มาฝากครรภ์ช้าและไม่เคยกำหนดอายุครรภ์มาก่อนตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครงสร้างร่ายกายของทารกในครรภ์ โดยดูอย่างละเอียดในแต่ละอวัยวะ ได้แก่ กะโหลกศีรษะ เนื้อสมอง ใบหน้า กระดูกสันหลัง แขนขา หัวใจ ลำไส้ ปอด ตับ ไต ตำแหน่งรก น้ำคร่ำ เพศของทารก เป็นต้น ตรวจคัดกรองความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดโดยอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดเพื่อวัดความยาวปากมดลูก

ไตรมาสที่ 3 : ช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์
ตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครงสร้างร่ายกายของทารกในครรภ์ซ้ำอีกครั้งเนื่องจากความผิดปกติของทารกบางชนิดสามารถเกิดขึ้นภายหลัง เช่นโรคหัวใจ โรคไต โรคของระบบทางเดินอาหารบางชนิด ดังนั้น การตรวจซ้ำเพื่อให้การคัดกรองมีความแม่นยำมากขึ้นและสามารถวางแผนการดูแลหลังคลอดได้ดียิ่งขึ้น ประเมินภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุเลือดออกผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ตรวจอัตราการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หากพบว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์จะมีการตรวจดอพเพลอร์เส้นเลือดสายสะดือเพิ่มเติมเพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะโตช้า
เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที

ตรวจประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง

ควรมีการประเมินสุขภาพทารกอย่างใกล้ชิดตามข้อบ่งชี้ โดยดูน้ำคร่ำ การหายใจ การเคลื่อนไหว ร่วมกับการติดเครื่องดูสุขภาพทารก (NST)ถึงแม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์จะสามารถคัดกรองโรคได้หลายชนิด แต่โรคบางชนิดสามารถเกิดขึ้นภายหลังได้ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ จึงไม่สามารถบอกความผิดปกติในครรภ์ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยได้ เช่น ทารกอยู่ในท่าที่บดบังการมองเห็น มารดามีผนังหน้าท้องหน้า
ความผิดปกติมีขนาดเล็กมาก อวัยวะบางอย่างมีขนาดเล็กมาก เป็นต้น ในกรณีตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง เช่น ทารกมีความผิดปกติของอวัยวะ มีภาวะโตช้าในครรภ์ ตั้งครรภ์แฝด หรือมารดามีโรคประจำตัวบางอย่าง ความถี่ในการตรวจอัลตราซาวด์จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

บทความโดย พญ. ณิชชาณัท ชัยพงศ์พันธุ์
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
รพ.พญาไท 1

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up