Family Trip เที่ยวอ่างขาง โครงการหลวง

Alternative Textaccount_circle
event

ปลูกต้นกล้า ตามหาดอกไม้ ในป่าหนาว ณ ดอยอ่างขาง

ยังคงขอตามติดทริปของ Bath&Bloom แบรนด์หอมๆสัญชาติไทย อย่างต่อเนื่อง คราวนี้ชวนเราสวมลุคใหม่กลายร่างเป็นนักอนุรักษ์ ไปปลูกป่ากันไกลถึง ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ แต่ก่อนจะเปลี่ยนรองเท้าบูท แบกเสียม ถือบัวรดน้ำ ขึ้นดอยไปปลูกป่า ขอพาไปเดินเที่ยวดอยอ่างขางกันก่อน ถ้าใครพร้อมแล้ว เกาะตัวหนังสือเที่ยวไปพร้อมกับเราเลยค่ะ
127-trip-2
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินผ่านบริเวณนี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกฝิ่น และมีฐานะยากจน จึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 ทรงแต่งตั้งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง”

127-trip
เที่ยวอะไร ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เราสามารถเดินทางภายในนี้ได้ 3 รูปแบบ ขี่จักรยาน ขี่ฬ้อ หรือ เดินก็ได้ สำหรับทริปที่ไปครั้งนี้ เราเดินตามกันไปค่ะ โดยมีคุณพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ผู้แทนพิเศษอาวุโสสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) คอยให้ความรู้ และบอกเล่าเรื่องราวของแต่ละจุด ให้เราฟังกัน จุดแรกเริ่มต้นกันที่
สวน 80 (ครบรอบอายุ 80 ปี ของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี) ด้านฝั่งตรงข้าม เต็มไปด้วยดอกพิทูเนียหลากสี และดอกไม้สายพันธุ์อื่นอีกมากมาย หนึ่งในนั้นมีดอกที่เราประทับใจเป็นพิเศษ นั่นคือ ดอกไม้จีน ที่เรากินในแกงจืดนั่นแหละค่ะ สีส้มสดใส ผิดจากที่เคยเห็นมาเลย

127-trip-3

สวนกุหลาบอังกฤษ มีกุหลาบหลากสายพันธุ์ให้เลือกชม สวยเสียจนเรียกเสียงชัตเตอร์ได้รัวๆ

แปลงไม้ผล ระยะทางยาวทั้งสองข้างทาง มีให้เลือกชมไม่ว่าจะเป็นสตรอเบอรี่พันธุ์โอซาก้า จากญี่ปุ่น พันธุ์ 80 ที่ได้รับพระราชทานมา และพันธุ์ 329 ที่เน้นปลูกส่งไปยังโรงงานหลวงเพื่อแปรรูป อบแห้ง กีวี บลูเบอรี่ และไม้เมืองหนาวอื่นๆอีกมากมาย

แปลงบ๊วย คุณพงศ์ เล่าให้ฟังว่า “ ตรงนี้มีอีกชื่อ ที่คนอื่นเรียกๆกันว่า สวนณเดช ตามรอยละครที่มาถ่ายทำกัน บ๊วยเหล่านี้ต้นสัญชาติไทย แต่เอาพันธุ์ฝรั่งมาตัดต่อกิ่ง แล้วใช้ฮั่ม หรือ เบียน มาช่วยผสมเกสร ถ้ามาช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดอกบ๊วยจะเริ่มออก สวยงามมาก “
โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดสวนด้วยผักทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคะน้า ฟักแม้ว ต้นหอม โหระพา มีที่นั่งพักเอาแรงกันก่อนจะเดินต่อไปยังจุดเกือบสุดท้าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก
สวนไม้ดอกกลางแจ้ง ไม่ต้องบินไปไกลที่ไหน ก็มีทุ่งลาเวนเดอร์ให้ดู แม้ไม่ใหญ่โตมาก แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย ส่วนด้านหลังมีร้านขายผลิตภัณฑ์จากดอยคำ และเครื่องดื่มเย็นๆไว้แก้เหนื่อยด้วย

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง)
จุดนี้อยู่ลงมาจากสถานีเกษตรฯประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเขาด้านบนหลังพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ปลูกต้นไม้ของเรา ต้นไม้ที่เราปลูกกันในวันนี้ เป็นพวกไม้เนื้อแข็งอย่าง สัก เต็ง และ รัง พอปลูกเสร็จก็ถึงเวลาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Bath&Bloom Aromasia Elements of the East ภายใต้อาคารของโรงงานหลวงฯ ต้องบอกว่าคอลเลคชั่นนี้ ฉีกแนวเดิมที่ Bath&Bloom เคยทำมาเลยทีเดียว ดูหรู และเลอค่ามาก มีให้เลือกทั้งหมด 3 กลิ่น Essence of Vitality, Advent of Harmony และ Serenity of Relaxation ภายในเซ็ทประกอบด้วย ชาวเวอร์เจล บอดี้โลชั่น มาสสาจ ออยล์ แชมพู และแฮร์ นูริชเมนท์ (สอบถามราคาได้ที่เคาน์เตอร์ Bath&Bloom ทุกสาขา)

127-trip-5

จากงานอีเวนท์เราเปลี่ยนบรรยากาศ ชมพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) เพื่อเรียนรู้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ยิ่งได้สัมผัส จากที่เคยรักพระองค์ท่านมากอยู่แล้ว ยิ่งรักมากขึ้นไปอีก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพทุกด้านจริงๆ
อาคารนิทรรศการ ทำให้เรามองเห็นภาพการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แบบบูรณาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ชัดขึ้น เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 8.30-16.30 น. (ปิดประจำปี 15-30 กันยายน) ใกล้ๆกันเป็นช็อปจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวง และร้านกาแฟน่ารักๆ
โรงงานหลวงฯ ต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กับผลิตภัณฑ์ “ ดอยคำ “ จันทร์-เสาร์ 8.00-17.00 น.
ชุมชนบ้านยาง ห้ามพลาดกิจกรรมเดินชมเมืองเล็กๆทว่าน่ารักแห่งนี้เชียว แล้วจะรู้สึกทึ่ง อยากยกตำแหน่งชุมชนตัวอย่างให้จริง ถนนหนทางสะอาดสะอ้านมาก น้ำในลำธาร รวมไปถึงน้ำในท่อระบายน้ำใสแจ๋ว ถ้าจ้องดีๆมีปลาตัวเล็กอาศัยอยู่ด้วย ตามประวัติที่นี่อดีตเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวยาง (กะเหรี่ยง) แต่ถูกชาวจีนยูนนานอพยพหนีภัยสงครามมาจากจีน มาลงหลักปักฐาน จึงไม่แปลกที่เห็นภาษาจีนติดอยู่เต็มไปหมด
127-trip-6

พักที่ไหน กินอะไรใน ดอยอ่างขาง
– บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สำรองที่พัก โทร. 053-450107-9 ต่อ 113 / 114
– รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขาง Ang khang Nature Resort อยู่ด้านล่างไม่ไกลจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สำรองที่พัก โทร. 053 450 110
– ร้านอาหารสโมสรอ่างขาง แนะนำ ข้าวซอยไก่ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ขาหมู หมั่นโถวทอด และอื่นๆอีกเพียบ ส่วนใครอยากจิบกาแฟ มีที่นี่ และที่ร้านจำหน่ายของที่ระลึกบริเวณสวนไม้ดอกกลางแจ้ง

-บ้านดินเล่าจาง ลองลิ้มรสอาหารจีนยูนนาน กับ สุกี้ยูนนาน หม่าล่าโฮ่โก เต้าหู้ทอดโซดา หมูพันชั้น ยำโอซุ่น ตั้งอยู่ชุมชนบ้านยาง แถวโรงงานหลวง รับประกันความเยอะ และอร่อยค่ะ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : Bath & Bloom

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up