อาการครรภ์เป็นพิษ

รู้ทัน อาการครรภ์เป็นพิษ พร้อมวิธีป้องกัน ดูแลดีปลอดภัยทั้งแม่ลูก

event
อาการครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษ หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่แม่ท้องอาจเจอได้ จะหายก็ต่อเมื่อคลอดลูกแล้ว แต่หากตรวจเจอและแม่ท้องดูแลตัวเองไม่ดีก็เสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก

แม่ท้องต้องรู้!! สัญญาณ อาการครรภ์เป็นพิษ
ดูแลดีปลอดภัยได้ทั้งแม่ลูก

ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่เกิดกับแม่ตั้งครรภ์ คือ กลุ่มอาการสัญญาณ 3 อย่างสำคัญ ที่ตรวจพบได้ในคุณแม่ท้อง อันได้แก่

  1. น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายบวมน้ำ เช่น มีอาการบวมตามใบหน้า มือ ข้อเท้า เท้า เป็นต้น
  2. มีความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยตรวจพบระดับความดันนี้ 2 ครั้งในระยะห่างอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  3. ตรวจพบโปรตีนหรือไข่ขาวส่วนเกินในปัสสาวะ หรือพบอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าไตมีปัญหา

โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าทุกๆปี มีผู้หญิงกว่า 70,000 คนที่เสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ และ ทารกเสียชีวิตภาวะดังกล่าวถึง 50,000 คนทั่วโลก1 ขณะที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐฯ (NIH) ระบุว่า 2-8% ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงต้องรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักว่าภาวะครรภ์เป็นพิษมีอันตรายถึงชีวิต

อ้างอิง : 1 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4354613/ Risk factors and effective management of preeclampsia

Must read >> ครรภ์เป็นพิษ ภัยใกล้ตัว! อันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้อง

 

อาการครรภ์เป็นพิษเกิดจาก

ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากความผิดปกติของการฝังตัวของรก ซึ่งโดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษ รกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลง จะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

ทั้งนี้สาเหตุของ อาการครรภ์เป็นพิษ ที่เกิดยังไม่รู้แน่ชัด เพราะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน และโดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะ อาการครรภ์เป็นพิษ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ชัก การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับทารก ได้แก่ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนด และทารกเสียชีวิตในครรภ์

หาก เกิดภาวะ eclampsia คือ ครรภ์เป็นพิษชนิดที่รุนแรงมาก ๆ จะทำให้แม่และลูกเสี่ยงอันตราย ทำให้แม่เสียชีวิตได้ ส่วนทารกในครรภ์ ถ้าอายุครรภ์ใกล้คลอดเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 เด็กอาจคลอดก่อนกำหนด กรณีที่อายุครรภ์ยังน้อยอาจต้องยุติการตั้งครรภ์ ถ้าครรภ์เป็นพิษรุนแรงนาน ๆ อาจทำให้ทารกเติบโตช้า ตัวเล็ก และขาดออกซิเจน

Must read >> ประสบการณ์จริง เมื่อฉัน ครรภ์เป็นพิษ!

Must read >> แม่แชร์ประสบการณ์! ครรภ์เป็นพิษเฉียบพลัน ต้องคลอดลูกที่ไม่มีลมหายใจ

Must read >> มาร์กี้แอดมิทเตรียมคลอดก่อนกำหนด! เหตุเสี่ยง “ภาวะครรภ์เป็นพิษ”

 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้แม่มี อาการครรภ์เป็นพิษ

  1. ตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือตั้งครรภ์หลังแต่เป็นครรภ์แรกกับสามีคนใหม่ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อยครั้งมีโอกาสครรภ์เป็นพิษมากกว่าผู้ที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ และเชื่อว่าครรภ์เป็นพิษอาจเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานเชื้ออสุจิ
  2. ตั้งครรภ์ลูกแฝด / ครรภ์ไข่ปลาอุก
  3. การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการปฏิสนธินอกร่างกาย เช่น IVF
  4. ตั้งครรภ์ที่อายุไม่เหมาะสม เช่น อายุมากกว่า 35 ปี หรือ อายุน้อยกว่า 20 ปี
  5. อ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน
  6. ครอบครัวเคยเกิดปัญหานี้ และคุณแม่เคยเกิดภาวะนี้เมื่อตั้งครรภ์ครั้งที่ผ่านมา
  7. มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น ความดันสูง เบาหวาน โรคไต
  8. ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะก่อนตั้งครรภ์
  9. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ

 

ลักษณะ อาการครรภ์เป็นพิษ

  1. ปวดศีรษะ ตามัว
  2. บวมตาม เท้ามือ ใบหน้า หรือน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
  3. คลื่นไส้ อาเจียน
  4. ปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่
  5. ถ้าเป็นชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นมีน้ำคั่งในปอด มีเลือดออกในสมอง
  6. ชัก
  7. ลูกในท้องดิ้นน้อย ตัวเล็ก โตช้า

อาการครรภ์เป็นพิษ

Must read >> ครรภ์เป็นพิษ กับอาการสำคัญที่แม่ควรรู้! เพื่อรับมืออันตรายต่อตัวเองและลูกน้อย

อันตรายแค่ไหนถ้าเกิดครรภ์เป็นพิษ

  1. ภาวะนี้จะกระทบกับการทำงานเกือบทุกส่วนของร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหาย บกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไต ตับ หัวใจ ระบบการแข็งตัวของเลือดเสียไป
  2. ถ้ารุนแรงมาก ๆ เกิดการชักเลือดออกในสมอง
  3. คลอดก่อนกำหนด เนื่องจากแพทย์จำเป็นต้องกระตุ้นให้คลอดเพื่อช่วยเหลือมารดา ทารกที่คลอดออกมามีปัญหาเรื่องการหายใจ และสุขภาพอื่น ๆ
  4. รกลอกตัวก่อนกำหนด รกลอกจากโพรงมดลูกก่อนทารกคลอด มีเลือดออกอย่างมาก อันตรายทั้งแม่และลูก
  5. HELLP เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ค่าตับอักเสบสูงขึ้น ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งรุนแรงมากเพราะเป็นสัญญานของความเสียหายของอวัยวะในหลาย ๆ ระบบ
  6. ครรภ์เป็นพิษส่งผลเสียต่อแม่และลูก ถ้ารุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

Must read >> แม่ท้อง ลูกตายได้ จากภาวะ ครรภ์เป็นพิษรุนแรง HELLP Syndrome

อาหารลด อาการครรภ์เป็นพิษ

มีงานวิจัยบางชิ้นสนับสนุนว่าสารอาหารที่มีแร่ธาตุหรือวิตามินต่อไปนี้จะช่วยลดการเกิด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้ เช่น อาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม วิตามินบี 6 แคลเซียม ธาตุสังกะสี  และโอเมก้า3 ซึ่งพบมากในผักใบเขียว นม ผลไม้สด ธัญพืช ถั่ว และอาหารทะเล

วิธีรักษาและป้องกันไม่ให้เกิด อาการครรภ์เป็นพิษ

การรักษาเบื้องต้น คือ ให้ยาลดความดัน และยากันชัก ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์โรคและดูแลรักษาได้ตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะนี้ ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดต่อทั้งมารดาและทารกได้ ซึ่ง อาการครรภ์เป็นพิษ เกิดเพราะมีการตั้งครรภ์ ดังนั้นวิธีดีที่สุดคือ “การคลอด” เท่านั้น (ยุติการตั้งครรภ์)

ทั้งนี้การจะให้คลอดหรือไม่นั้น คุณหมอจะพิจารณาจากอายุครรภ์เป็นหลัก หากอายุครรภ์น้อยเกินไปคุณหมอก็จะให้ยากระตุ้นปอดแล้วพิจารณาว่าสามารถประคับประคองให้อยู่ในครรภ์แม่ได้นานที่สุดกี่วัน แต่หากอายุครรภ์สามารถทำคลอดได้ คุณหมอจะผ่าคลอดหรือเร่งให้คลอดทางช่องคลอดเพื่อหยุดความรุนแรงของโรค

Must read >> เทคโนโลยีใหม่ ตรวจครรภ์เป็นพิษ รวดเร็ว แม่นยำ

การป้องกันครรภ์เป็นพิษด้วยตัวเอง

ถ้าแม่ท้องไม่อยากให้ตัวเองเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างน้อย คือ ควรปรึกษาคุณหมอ ถ้าวางแผนที่จะมีลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าว่าที่แม่ท้องอยู่ใน “กลุ่มเสี่ยง” และควรไปฝากท้องตั้งแต่เนิ่น ๆ และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง สุดท้ายหมั่นสังเกตตัวเองให้ดีถ้ามีอาการผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปวดหัว ปวดตรงลิ้นปี่ บวมตามขาและมือ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่ควรละเลยและใส่ใจสังเกตตนเองอยู่เสมอ หากเกิดความผิดปกติแพทย์จะรักษาได้ทันท่วงที

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือคู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข , siamrath.co.thwww.bumrungrad.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up