สายสะดือบิดเป็นเกลียว

อุทาหรณ์แม่ท้อง! สายสะดือบิดเป็นเกลียว ต้องคลอดลูกที่ไม่มีลมหายใจ [เรื่องจริงจากหมอสูติฯ]

Alternative Textaccount_circle
event
สายสะดือบิดเป็นเกลียว
สายสะดือบิดเป็นเกลียว

(ต่อ) เรื่องจริงจากหมอสูติฯ สายสะดือบิดเป็นเกลียว ต้องคลอดลูกที่ไม่มีลมหายใจ

ในห้องผ่าตัดเงียบกริบขณะที่หมอผ่าตัด ฉันรู้สึกตัวดี เพราะหมอดมยาใช้วิธีบล็อกหลัง เมื่อทำคลอดลูกที่เสียชีวิต ฉันได้ยินหมออุทานอย่างแปลกใจ เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น หมอถามฉันว่าอยากดูลูกไหม กลัวไหม ฉันบอกอยากเห็นลูก ฉันไม่กลัว หมอจึงนำลูกที่เสียชีวิตมาให้ดู เขาเป็นเด็กชาย ตัวเล็ก น้ำหนักไม่ถึงครึ่งกิโล หน้าตาปกติ ไม่เห็นความพิการอะไร นิ้วมือ นิ้วเท้าครบ หมอทำคลอดเขาพร้อมรก ไม่ได้ตัดสายสะดือ จึงเห็นสายสะดือที่เชื่อมระหว่างรกกับหน้าท้องของลูกพันเป็นเกลียว ตั้งแต่บริเวณที่ติดกลางรก จนมาถึงบริเวณสะดือของเขา โดยเฉพาะที่สะดือของลูก  สายสะดือบิดเป็นเกลียว แน่นจนคอด เลือดคงเข้ามาเลี้ยงตัวเขาไม่ได้ เมื่อนับดู พบว่ามีเกลียวทั้งหมดเกิน 50 เกลียวทีเดียว

(อ่านต่อ >> สายสะดือพันคอทารก ในครรภ์แม่จะรู้ได้อย่างไร?)

ฉันถามหมอว่า ที่เขาเสียชีวิตสายสะดือผิดปกติหรือเปล่า หมอบอกว่า สายสะดือเป็นส่วนนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงเด็กและนำของเสียออกจากตัวเด็ก ลูกของฉันลักษณะของสายสะดือไม่ผิดปกติ แต่ที่ผิดปกติคือ สายสะดือบิดเป็นเกลียวแน่น ฉันพยักหน้ารับ ไม่ได้บอกหมอ แต่คิดว่า คงเพราะฉันขย้อนนั่นเอง ฉันขย้อนวันละหลายสิบครั้ง คงทำให้ตัวลูกค่อยๆ หมุนไปเรื่อยๆ จนสายสะดือพันเป็นเกลียว เมื่อเป็นมากเข้าๆ ลูกไม่ได้รับเลือดไปเลี้ยงจึงเสียชีวิต เมื่อฉันเล่าให้สามี เขาเห็นด้วย แต่เขาบอกฉันว่า ไม่ใช่ความผิดของฉัน เป็นโชคชะตาลิขิต ลูกเป็นเด็กมีบุญ เขากลับสรวงสวรรค์ไปเร็ว โดยยังไม่ได้ใช้กรรมเหมือนพวกเราต่างหาก

สายสะดือพันเป็นเกลียว

บันทึกของหมอ

สะดือที่ปกติจะเชื่อมระหว่างตรงกลางของรกกับหน้าท้องของทารก มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 55 เซนติเมตร ประกอบไปด้วยเส้นเลือดแดงสองเส้น เส้นเลือดดำหนึ่งเส้น ความผิดปกติของสายสะดือพบได้ถึงร้อยละ 5 ของการตั้งครรภ์ ยิ่งหากตั้งครรภ์แฝดจะพบความผิดปกติมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

  1. สายสะดือมีเส้นเลือดแดงเส้นเดียว (Single umbilical artery ) เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เชื่อว่ามีการฝ่อของเส้นเลือดแดงไปเอง ร้อยละ 25-50 สัมพันธ์กับความพิการของทารก ทำให้ทารกร้อยละ20 เสียชีวิต ส่วนใหญ่เสียชีวิตในครรภ์ ทารกมักมีความพิการร่วมด้วย เช่น ปัญญาอ่อน โครโมโซมผิดปกติ ปากแหว่ง เพดานโหว่ มีระบบหัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ ระบบประสาทผิดปกติ ระบบทางเดินอาหารผิดปกติฯลฯ
  2. สายสะดือบิดเป็นเกลียว ผูกเป็นปมแน่น หรือสายสะดือตีบ มักสัมพันธ์กับสายสะดือที่ยาวกว่าปกติ ภาวะนี้แพทย์อาจไม่สามารถตรวจพบตอนตั้งครรภ์ หากเป็นมาก สายสะดือตีบจนเลือดไม่ไหล เด็กมักเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากปมไม่แน่น หรือเป็นเกลียวหลวม สายสะดือไม่ตีบมาก แพทย์มักจะตรวจพบจากการเต้นของหัวใจเด็กเต้นผิดปกติ และช่วยเหลือได้ทันในช่วงคลอด
  3. สายสะดือเกาะขอบรก (Vasa previa) ภาวะนี้ทารกมีโอกาสเสียชีวิตสูง ถึงร้อยละ 75 เพราะเมื่อเจ็บครรภ์คลอด ถุงน้ำคร่ำแตก เส้นเลือดเด็กที่สายสะดือจะแตกด้วย ทำให้ทารกในครรภ์เสียเลือดจนเสียชีวิตในท้อง พบมากในครรภ์แฝด

วิธีป้องกันทารกตายในครรภ์ 

  1. ก่อนปล่อยให้ท้องควรปรึกษาแพทย์
  2. ในคนที่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมได้ไม่ดี ติดเหล้า บุหรี่ ไม่ควรปล่อยให้ท้อง
  3. ฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าท้อง
  4. ไปพบแพทย์ฝากครรภ์ตามนัด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้หากคุณแม่ท้องรู้ตัวว่าตัวเองเสี่ยงที่จะเกิดทารกตายในครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เชี่ยวชาญให้การดูแลก่อนคลอดและช่วงคลอด และตัวคุณแม่เองก็ต้องมีความรู้ในการดูแลครรภ์ สังเกตความแข็งแรงของลูกในท้อง สามารถนับลูกดิ้นและสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง เพื่อไปพบแพทย์ก่อนเกิดเหตุน่าเศร้าได้

ขอบคุณข้อมูจาก พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ ระดับนายแพทย์เชี่ยวชาญ
หัวหน้าแผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลพิจิตร

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up