ลูกนอนกัดฟัน ส่งผลเสียอย่างไร และแก้ด้วยวิธีไหน?

event

ลูกชอบนอนกัดฟัน

X ผลเสียของการนอนกัดฟัน

การนอนกัดฟันเป็นประจำ จะทำให้ เคลือบฟันสึก ทำให้ฟันผุง่าย เสียวฟัน ฟันโยก ฟันแตกหรือบิ่น ปวดหน้า ปวดศีรษะ ปวดขากรรไกร ปวดต้นคอ ปวดหู ข้อต่อขากรรไกรสึก

และในกรณีที่เด็กนอนกัดฟันจนเสียงดังมาก ก็อาจจะทำให้ฟันของลูกเริ่มมีขนาดสั้นลง ก่อให้เกิดอันตรายถึงโครงสร้างของฟันได้ จนสามารถไปทะลุถึงโพรงประสาทฟันเลยก็ได้ ทั้งนี้ โครงสร้างของฟันภายนอกจะประกอบไปด้วย เคลือบฟัน เนื้อฟัน และเส้นประสาทที่อยู่ตรงกลาง เมื่อได้รับการสึกกร่อนมากเกิน ผลที่จะได้รับ ก็คือ เกิดอาการเสียวฟัน ฟันบิ่นแตก และฟันร้าว หรือกัดลิ้น กัดแก้ม เกิดเป็นแผลในปากบ่อยๆเป็นต้น เพื่อช่วยป้องกันฟันสึกและลดอาการปวดเมื่อยขากรรไกรและปวดศีรษะ อาจจะจำเป็นต้องใส่เฝือกสบฟันในขณะนอน ทั้งยังลดเสียงกัดฟันได้ด้วย

พฤติกรรมนอนกัดฟัน ในบางครั้งไม่มีเสียงดังก็ได้ เพราะเป็นแบบกัดฟันแน่นๆ ไม่ใช่กัดแบบฟันถูไปถูมา ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะสังเกตยากมากเพราะไม่มีเสียงดังให้ได้ยิน ต้องพามาให้ทันตแพทย์ช่วยตรวจหาดูว่ามีฟันที่สึกหรือไม่ หรืออาจสังเกตจากอาการปวดขากรรไกรหรือปวดศีรษะบ่อย ๆ แทน

√ พ่อแม่จะช่วยแก้ปัญหา ลูกนอนกัดฟันได้อย่างไร?

เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกนอนกัดฟันบ่อย จนรุนแรงแล้วมีอาการปวดขากรรไกร ปวดศีรษะ ฟันสึก เสียวฟัน ก็ควรมาปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ (เฝือกสบฟัน) หากเด็กที่นอนกัดฟัน อย่าง 2 หรือ 3 เดือน นอนกัดฟันซัก 1 ครั้ง ก็คงต้องดูอาการไปก่อน คอยสังเกตดูว่าฟันของลูกมีความสึกกร่อนมากน้อยแค่ไหน คอยถามลูกว่ามีความเจ็บปวดตรงไหนหรือเปล่า หากโตขึ้นอาการยังไม่หาย ก็คงต้องใส่เครื่องมือเฝือกสบฟัน ปกป้องไม่ให้ฟันแท้สึก

ทั้งนี้การแก้ไขสามารถแก้ได้ที่ต้นเหตุ เช่น การลดความเครียด การทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนเข้านอน (นวดกล้ามเนื้อบริเวณหน้า ประคบอุ่นที่หน้า ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือดีๆ) การรักษาโรคภูมิแพ้ การให้สารอาหารที่ขาด การให้ยาฆ่าพยาธิ การงดอาหารที่มีกาเฟอีน การงดเคี้ยวหมากฝรั่งเพราะอาจทำให้เกิดความเคยชินจนละเมอเคี้ยวตอนนอน หรือการฝึกทำท่าผ่อนคลายกล้ามเนื้อขากรรไกรโดยใช้ลิ้นดุนระหว่างฟันบนและฟันล่าง (relax jaw muscle)

ลูกนอนกัดฟันคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขในกรณีที่มีการสบฟันผิดปกติ (แก้ไขโดยการจัดฟัน) และตรวจดูว่ามีฟันที่เสียหายเพราะการกัดฟันแล้วหรือยัง ทันตแพทย์อาจแนะนำให้สวมที่ครอบฟัน (night guard) ก่อนนอน แต่ในกรณีของลูกคุณแม่ เนื่องจากยังอายุน้อยและยังเป็นฟันน้ำนม ส่วนใหญ่จึงไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงลองแก้ที่สาเหตุที่อาจเป็นไปได้และคอยดูไม่ให้มีฟันผุก็พอค่ะ

กรณีที่การกัดฟันไม่สมดุล เช่น มีฟันบางซี่กระทบกันก่อนที่ซี่อื่นจะสบกัน สามารถแก้ไขได้ ด้วยการกรอผิวฟันเฉพาะจุดเพื่อเกิดความสมดุลในการสบฟันและการบดเคี้ยว

อีกทั้ง คุณหมอได้แนะวิธีการนอนที่ถูกสุขลักษณะสำหรับบ้านที่มีลูกชอบนอนกัดฟันไว้ 4 วิธี คือ

  • ลักษณะห้องที่นอนต้องเหมาะสม เงียบ สงบ แสงไม่จ้า เพื่อให้ลูกนอนหลับได้ดี
  • ไม่ควรกินอาหารมื้อหนัก ก่อนจะนอนภายใน 3 ชั่วโมง แต่อาจจะเปลี่ยนเป็นดื่มนมอุ่นๆ แทน เพื่อให้นอนหลับสบายมากขึ้น
  • ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะชอบวิ่งเล่นก่อนเข้านอน อาจทำให้เด็กนอนไม่หลับได้
  • เมื่อถึงเวลานอนก็ควรให้เด็กได้เข้านอนเป็นเวลา ไม่ควรให้มาดูหนัง ดูทีวี หรือว่าจะเล่นเกมคอมพิวเตอร์ สิ่งพวกนี้มันยังทำให้เขายังมีความตื่นเต้นอยู่ได้

ถึงแม้ว่าโรคนอนกัดฟันจะหาวิธีรักษาให้หายค่อนข้างยาก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกนอนกัดฟันลดลงได้ โดยเริ่มจากการใส่ใจ และคอยสังเกตลูกอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความตึงเครียด และความกังวลให้กับพ่อแม่ได้

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th ผศ.ดร.ทพญ.เปรมทิพย์ ชลิดาพงศ์ คลินิกนอนกรนและนอนกัดฟัน ภาควิชาโอษฐวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์ทันตกรรม รพ.ปิยะเวท

และ แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up