Kid Safety ไม่กล้า..เจ็บ

Alternative Textaccount_circle
event

Q. จะช่วยอย่างไรให้ลูก มีความกล้ามากขึ้น ไม่กลัวเจ็บครับ เวลาเล่นกีฬาหรือเล่นอะไรที่มีโอกาสเจ็บตัวบ้างนิดๆ หน่อยๆ อย่าง เล่นปีนป่ายเครื่องเล่น ขี่จักรยาน ไอซ์สเก็ต แกว่งชิงช้าเร็วขึ้น สูงขึ้น ฯลฯ เขาค่อนข้าง safety มาก ทั้งที่ก็ดูแลให้เล่นในที่ที่ปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว เขาชอบเล่นนะครับ แต่จะไม่ยอมให้ล้ม ไม่ยอมเจ็บเลย เป็นเพราะอะไร

ไม่ได้บอกอายุมา เดาว่าเป็นเด็กเล็กคือไม่เกิน 5 ขวบ

เด็กเล็กไม่เกิน 5 ขวบพ่อแม่ยังเป็นบุคคลสำคัญที่สุดอยู่ นั่นหมายความว่าเขาจะยอมไปข้างหน้าได้ต่อเมื่อเหลียวมาข้างหลังแล้ว..

  1. เห็นคุณพ่อคุณแม่
  2. มั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเขาได้
  3. ไม่ทำโทษหากเขาทำอะไรผิด

ข้อ 1 เห็นคุณพ่อคุณแม่

เรื่องนี้ลากยาวมาตั้งแต่แรกเกิด ช่วงที่เขาเป็นทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 12 เดือน หากแม่บ้านไหน (ในกรณีที่แม่ไม่อยู่ คนถัดไปคือพ่อ หากทั้งสองคนไม่อยู่คนถัดไปคือญาติ หากญาติไม่อยู่คนถัดไปคือเจ้าหน้าที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า) เลี้ยงดูอย่างดีที่สุด คือให้นมเมื่อเขาหิว อุ้มกอดเมื่อเขาเหงา ห่มผ้าเมื่อเขาหนาว เปิดพัดลมเมื่อเขาร้อน เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อผ้าอ้อมแฉะและเอามดออกเมื่อเขาถูกมดกัด สิ่งที่ได้คือลูกจะเรียนรู้ว่าเขาวางใจ (trust) โลกได้ เมื่อโลกไว้วางใจได้เขาจึงจะนั่ง ยืน และเดินจากเราไป

แน่นอนว่า “เล่นปีนป่ายเครื่องเล่น ขี่จักรยาน ไอซ์สเก็ต แกว่งชิงช้าเร็วขึ้น สูงขึ้น” ก็สามารถทำด้วยความมั่นใจได้ด้วย หากจะเจ็บตัวก็เลื่อนมาที่

 

ข้อ 2 นั่นคือ มั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะช่วยเขาได้

ช่วง 2-3 ขวบ เขาต้องสร้างคุณแม่ขึ้นมาในใจให้ชัดๆ สร้างสายสัมพันธ์เชื่อมตรงถึงคุณแม่อย่างแข็งแรง แล้วก็สร้างตัวตน (self) ที่ชัดเจนเป็นลำดับสุดท้าย มนุษย์คือเด็กเล็กคือลูกของเราจำเป็นต้องใช้อะไรที่เรียกว่า “ตัวตน” ไปปะทะเด็กคนอื่นในสนามเด็กเล่นหรือคนอื่นๆ ที่เขาพบภายนอกบ้านนั้น หากตัวตนไม่พร้อมเขาก็จะไม่กล้าและถ้าเขาเจ็บตัว เขามั่นใจได้ว่าคุณแม่มีอยู่จริงๆ ที่ด้านหลัง อาจจะห่างไปสิบเมตรหรือแม้กระทั่งยี่สิบเมตรก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมสองคนเอาไว้ อย่างไรก็ไม่ถูกทอดทิ้งแน่นอน

ความไม่กล้าและกลัวเจ็บเกิดจากความไม่มั่นใจในกองหลัง (คือพ่อแม่) ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่ก็เพียงเพิ่มเวลาอยู่กับเขามากยิ่งขึ้นทุกอย่างก็จะดีเองครับ ไม่ต้องมีเทคนิคพิเศษอะไร

เวลาตอบคำถามแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่จะเถียงได้ว่าที่ผ่านมาทำดีที่สุดแล้ว ผมก็จะมีหน้าที่พูดว่า “สำหรับเด็กคนนี้” ไม่พอ

 

ข้อ 3 ไม่ทำโทษหากเขาทำอะไรผิด

เพราะจิตวิทยาพัฒนาการของเด็ก 2-7 ขวบเขากลัวการทำโทษมาก ข้อดีของข้อนี้คือถ้าเขาทำอะไรที่ผิดร้ายแรง เช่น ความผิดนั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อเราทำโทษเขาจะจำแล้วไม่ทำอีก แต่ข้อนี้มีข้อเสียด้วย กล่าวคือหากบางบ้านทำโทษพร่ำเพรื่อด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจจะทำให้เด็กไม่กล้าทำอะไร

การทำโทษมิได้หมายความเพียงการทำโทษจริงๆ หรือตี แต่รวมถึงการตำหนิไปจนถึงด่าว่าด้วย

 

บทความโดย : นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ภาพ : Shutterstock

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up