ปัญหาบุคลิกภาพของเด็กพร้อมวิธีรับมือ

Alternative Textaccount_circle
event

family-of-three-871290963799xuk

พ่อแม่จะช่วยเหลือหรือแก้ไข ปัญหาบุคลิกภาพของลูก ได้อย่างไร?

แม้ว่า ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกัดเล็บ การม้วนผม การแคะจมูก และการดูดนิ้ว มักจะหายไปเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน เนื่องจากเด็กไม่ต้องการกระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีกต่อไป หรือเด็กโตเกินกว่าจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองไม่อยากให้เด็กมีปัญหาบุคลิกภาพ สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาบุคลิกภาพของเด็กได้ ดังนี้

  • ชี้ให้เด็กเห็นถึงปัญหาบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสามารถใช้วิธีนี้ได้กับเด็กตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เพื่อช่วยให้เด็กตระหนักถึงปัญหาพฤติกรรมของตนมากยิ่งขึ้น เมื่อเด็กแสดงปัญหาบุคลิกภาพ พ่อแม่อาจจะเริ่มจากการทักถึงพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมกับกระตุ้นให้เด็กหยุดการกระทำนั้นโดยการขอความร่วมมือจากเด็ก ที่สำคัญหากเด็กยังคงแสดงปัญหาบุคลิกภาพต่ออีก พ่อแม่ก็ไม่ควรดุ วิพากษ์วิจารณ์ สั่งสอน หรือใช้วิธีการเด็ดขาด เช่น การลงโทษลูก เพราะอาจทำให้ปัญหาแย่ลงไปกว่าเดิมอีก
  • ให้ลูกมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบุคลิกภาพ โดยหากลูกกลับบ้านมาแล้วร้องไห้เพราะถูกเพื่อนล้อเลียนเรื่องพฤติกรรมการดูดนิ้วของตนเอง พ่อแม่ควรรับรู้ว่าลูกกำลังต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงควรถามลูกถึงวิธีการที่ลูกคิดว่าจะสามารถช่วยให้เขาหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้ หรือก่อนอื่นอาจจะถามถึงความสมัครใจว่าลูกอยากหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ตริตรอง และแสดงความมุ่งมั่น จากนั้นพ่อแม่ควรช่วยกันคิดหาทางออกของปัญหาบุคลิกภาพ โดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย
  • แนะนำพฤติกรรมหรือกิจกรรมอื่นให้แก่ลูก เช่น หากเห็นว่าลูกกำลังกัดเล็บ แทนที่จะห้าม พ่อแม่อาจจะชักชวนให้ลูกสะบัดมือไปมา ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ลูกตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเองมากยิ่งขึ้น และจะเป็นสิ่งเตือนใจให้เด็กหยุดเมื่อเผลอกระทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังกล่าว นอกจากนี้พ่อแม่อาจหากิจกรรมให้ลูกทำ เพื่อให้เด็กได้จดจ่อกับสิ่งอื่นแทนการหมกมุ่นกับพฤติกรรมการกัดเล็บ ม้วนผม แคะจมูก หรือดูดนิ้ว เช่น ให้ลูกเป็นผู้ช่วยในการประกอบอาหาร หรือให้ลูกทำงานศิลปะ เป็นต้น

    thumbs-out-image-4

  • ตัดปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น หากเด็กมีพฤติกรรมการกัดเล็บ พ่อแม่ก็ควรตัดเล็บของลูกให้สั้น หรือให้ลูกทาโลชั่นชนิดไม่มีสารพิษที่มือบ่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กกัดเล็บแล้ว ยังช่วยให้เด็กมีผิวพรรณชุ่มชื้น โดยผู้ปกครองอาจสนับสนุนให้เด็กทาโลชั่นหลังล้างมือทุกครั้งด้วยก็ได้
  • ให้รางวัลและชื่นชมการควบคุมตนเองของลูก เช่น อนุญาตให้ลูกสาวใช้ยาทาเล็บถ้าลูกสามารถไว้เล็บให้ยาวได้ หรือหากลูกสามารถยับยั้งการดูดนิ้วได้ พ่อแม่อาจกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมทางบวกด้วยการชมเชย หรือให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ
  • หมั่นสังเกต พร้อมทั้งให้รางวัลและชมเชยลูกอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะหากพ่อแม่ไม่สังเกตเห็นในเวลาที่ลูกแสดงพฤติกรรมในทางบวก ทำให้พลาดการให้รางวัลหรือคำชมเชยแก่เด็ก ในกรณีนี้ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่กำลังเกิดขึ้นในเด็กก็อาจจะหายไป แล้วลูกก็อาจจะกลับไปมีปัญหาบุคลิกภาพดังเดิม ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ควรได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จะค่อยๆ ลดและหายไป

ในการแก้ไข ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก นอกเหนือจากการตักเตือนอย่างอ่อนโยนและคำชมเชย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “เวลา” การจะเปลี่ยนนิสัยซึ่งเป็นความเคยชินของเด็ก จำเป็นต้องให้เวลาพวกเขาค่อยๆ ปรับตัว แล้วจึงแทนที่ด้วยลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องอดทน แล้วในท้ายที่สุดทุกอย่างย่อมผ่านไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตามหาก ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และเด็กไม่มีท่าทีว่าจะหายขาดจากพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ปกครองจำเป็นต้องหาสาเหตุของปัญหาของลูกให้พบ และควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการประเมินสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข


ขอบคุณข้อมูลจาก : taamkru.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up