ลูกเล่นบทไหน ในห้องเรียน ?!?

Alternative Textaccount_circle
event

แล้วลูกของคุณล่ะเป็นแบบไหน และแสดงบทบาทนั้นไปเพื่ออะไร เรามีคำตอบค่ะ

 

 

 

ดร.วิลเลี่ยม เพอร์คีย์ นักจิตวิทยา และเจ้าของหนังสือ Teaching Class Clowns (and What They Can Teach Us) อธิบายว่า “การแสดงออกของเด็กๆ มาจากความต้องการเป็นคนพิเศษ และอยากจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และมีตัวตนในกลุ่มเพื่อน ในสายตาคุณครู ซึ่งเป็นเรื่องปกติเลยของคนเรา

 
“จิตใต้สำนึกของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนของตัวเองที่สามารถเรียกความสนใจได้ และจะนำพฤติกรรมนั้นมาสร้างบทบาทในชั้นเรียนของตน ซึ่งจะส่งผลทั้งต่อวิธีการเรียนรู้และการผูกมิตรของเด็กด้วย”  

 

 

 
มีประโยชน์กับการเรียนรู้ของเจ้าหนู

 
เจนนิเฟอร์ ฟอกซ์ เจ้าของหนังสือ Your Child’s Strengths: Discover Them, Develop Them, Use Them เสริมว่า แม้บางพฤติกรรมอาจจะน่ารำคาญอยู่บ้าง แต่ยังคงมีข้อดีเพื่อการเรียนรู้แฝงอยู่ เช่น ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โดยไม่ต้องบังคับเคี่ยวเข็ญ หรือความต้องการเป็นที่รัก เป็นแรงจูงใจให้เด็กๆ พยายามเรียนรู้  

 

 

 
ว่าแล้วก็มาทำความเข้าใจ ข้อควรระวัง และเทคนิคดีๆ สนับสนุน บทบาทในห้องเรียนของลูกๆ กันดีกว่า

 1.     เจ้าหนู รู้….ไปหมด

 
มักเป็นแบบนี้ : มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบแสดงออกเพื่ออวดภูมิรู้ของตนเอง เช่น เหลือบตาเล็กน้อย ถอนใจ แล้วบอกว่า “หนูรู้อยู่แล้ว…” ตอบครูทุกคำถาม

 
ข้อดี : เด็กน้อยเหล่านี้เป็นผู้ชอบการเรียนรู้และการแสดงออก ความอยากตอบทุกคำถามของคุณครู แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องการศึกษาของพ่อแม่ที่บ้าน วิกกี้ กิลล์ คุณครูและเจ้าของหนังสือ The Ten Students You’ll Meet in Your Classroom อธิบายเหตุที่เด็กน้อยเลือกบทบาทนี้ว่า “เพราะพวกเขาเป็นเด็กเติบโตมาในบ้านที่นิยมการแสดงออกความคิดเห็น”

 
ข้อควรระวัง : ความมั่นใจที่ล้นเหลือของเด็กเหล่านี้ อาจจะไปขโมยซีนและบดบังโอกาสแสดงออก หรือการทำคะแนนของเพื่อนร่วมชั้น การสอนลูกๆ ให้เปิดโอกาสกับเพื่อนๆ ด้วยก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้

 
เทคนิคสนับสนุนลูก : อธิบายให้ลูกรู้ว่านอกจากการเรียนแล้ว การอยู่ร่วมกัน และเข้ากับกับเพื่อนๆ ได้ก็สำคัญ หรือลองคุยกับคุณครูให้ใช้จุดเด่นของเขาเพื่อทำประโยชน์ เช่น ให้คุณครูมอบหมายหน้าที่ให้เขาช่วยอธิบายให้เพื่อนที่ฟังครูไม่ทัน

 

 

 

2.  เด็กน้อยรักตลก เรียกเสียงฮา

 
มักเป็นแบบนี้ : ชอบพูดตลกให้คนอื่นขำ หรือทำท่าทางตลกเรียกเสียงเฮฮาจากเพื่อนๆ

 
ข้อดี : ด้วยความเป็นคนมีอารมณ์ขัน หัวไว ไม่เคร่งเครียด เด็กน้อยเหล่านี้จึงมักเป็นขวัญใจของเพื่อนๆ และครู แถมข้อเด่นนี้ยังอาจฉายแววความถนัดในตัวลูกได้ เช่น นักพูด นักแสดงตลก หัวไว เรียนรู้ได้เร็ว

 
ข้อควรระวัง : เด็กเหล่านี้อาจจะปล่อยมุกเพลินเกินขอบเขตจนกลายเป็นความไม่สุภาพกับเพื่อน หรือลามปามไปถึงคุณครูได้ นอกจากนี้ ด้วยความเป็นเด็กหัวไว เขาอาจเรียนรู้ได้เร็วในบางวิชา จนอาจเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมาระหว่างเรียน แล้วไปทำตลกใส่เพื่อนเพื่อเรียกร้องความสนใจ

 
เทคนิคสนับสนุนลูก : ลองคุยกับคุณครูเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ใช้อารมณ์ขันอย่างสร้างสรรค์ เช่น รับหน้าที่เป็นพิธีกร หรือทำหน้าที่นำเสนอรายงาน และหากพบว่าลูกตลกจนล้ำเส้นเกินไป ควรตักเตือนให้เขารู้ตัวว่า คำพูดหรือท่าทางของเขาไม่ขำแล้วนะ แต่ทำให้เพื่อนหรือคุณครูรู้สึกไม่ดี หรือไม่ชอบมากกว่า การมีอารมณ์ขันเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงมารยาทและกาละเทศะด้วย

 

 

 

3. ดาวเด่น คนดัง

 
มักเป็นแบบนี้ : มีเพื่อนรุมล้อม อยากเล่นด้วย เพื่อนๆ มักอยากใกล้ชิดด้วย มีความเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันก็มีความเป็นหัวโจกที่เพื่อนๆ มักจะยอมทำตาม

 
ข้อดี : เด็กๆ เหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นๆ มีบุคลิกท่าทีที่เพื่อนๆ นิยมชมชอบ มักจะพูดคุยกับคนหมู่มากได้อย่างสบายๆ ไม่ตื่นเต้น เช่น เด็กที่ได้รับเลือกจากเพื่อนๆ ให้เป็นหัวหน้าชั้น หัวหน้าทีม

 
ข้อควรระวัง : เด็กน้อยอาจเผลอใช้พลังในตัวเองไปข่มเพื่อนๆ หรือบงการเพื่อนให้ทำตามความต้องการของตน ตลอดจนอาจจะลองบริหารเสน่ห์ของตนแบบเล่นๆ ไม่คิดจริงจังอะไร

 
เทคนิคสนับสนุนลูก : เจนีน วอล์คเกอร์ แคฟฟรีย์ ผู้ช่วยผู้ตรวจการศึกษามหานครนิวยอร์ค และผู้เขียนหนังสือ Drive: Nine Ways to Motivate Your Child to Achieve แนะนำให้ปรามลูกแบบไม่ให้เสียความมั่นใจ เหมือนอย่างตอนที่คุณครูสอนการละคร ให้ลูกสาวของเธอ ซึ่งมักได้รับบทเด่นในการแสดงของโรงเรียนเสมอ ได้ลองทำงานหลังฉากดูบ้าง เพื่อเธอจะได้รู้ว่าไม่อาจเป็นศูนย์กลางของความสนใจได้ตลอดเวลา และรู้จักเห็นใจเด็กอื่นๆที่ไม่ได้เด่นดังอะไรบ้าง

 

 

 

4. ช่างจำนรรจา

 
มักเป็นแบบนี้ : จ้อได้ทุกเรื่อง ทุกหัวข้อ ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ มดตะนอยไปจนถึงยานอวกาศ

 
ข้อดี : มักจะเป็นคนโปรดของทุกคน สามารถผูกมิตรกับเพื่อนที่ขี้อายและเข้ากับคนอื่นยากได้

 
ข้อควรระวัง : คุยไปเรื่อย เพลิดเพลินจนอาจทำให้เพื่อนเสียสมาธิในชั้นเรียน จนคุณครูอาจรำคาญใจได้

 
เทคนิคสนับสนุนลูก : ตั้งกติกา ก่อนเด็กน้อยช่างเจรจาจะเครื่องติด เช่น ฟังสามประโยคก่อนนะค่อยพูด หรือให้ลองเขียนสิ่งที่อยากจะพูดดูบ้าง ตลอดจนให้ใช้เสียงและการพูดในเชิงสร้างสรรค์ เช่น สมัครเข้าชมรมละคร หรือโต้วาที

 

 

 

5. คนว่าง่ายของคุณครู

 
มักเป็นแบบนี้ : พยายามตั้งใจเรียน หรือบำเพ็ญประโยชน์ในชั้นเรียน จนเข้าตาและได้ใจคุณครู (แต่ไม่ค่อยจะทำแบบนี้ที่บ้านแฮะ)

 
ข้อดี : เป็นที่รักใคร่ชื่นชมของคุณครู จนอาจได้โอกาสงามๆ หรือความเอ็นดูอยู่เนืองๆ

 
ข้อควรระวัง : มักจะเป็นเด็กอ่อนไหว และต้องการการยอมรับ อาจจะติดความสมบูรณ์แบบจนเสียใจได้ง่าย ในยามที่พบกับความผิดหวัง

 
เทคนิคสนับสนุนลูก : ลูกน้อยอาจอ่อนไหวกับการไม่ตอบรับโดยไม่ตั้งใจของคุณครู เช่น ลูกระบายสีภาพใหญ่ทั้งภาพ ตามที่ครูบอก (ซึ่งคุณครูพร้อมเข้าใจทั้งภาพที่ระบายเต็มและไม่เต็ม) แบบหลากสีด้วย (อันนี้ครูไม่ได้บอก) คุณรู้ว่าลูกพยายามเพื่อให้คุณครูเห็น แต่คุณครูอาจเผลอไม่ได้ชม สิ่งที่คุณควรทำคือการให้กำลังใจ “แม่ก็เห็นคุณครูชมลูกเสมอ ครั้งนี้คุณครูอาจยุ่งกับอะไรบางอย่างอยู่ แต่แม่น่ะเห็นนะว่าลูกแม่อดทนมาก และลูกก็ระบายสีได้เรียบ ใช้ตั้งหลายสี รูปของลูกสดใสมากเลยนะ”

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียล พาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up