ลูกมักไอตอนกลางคืน

Alternative Textaccount_circle
event

ลองเช็คดูสิว่า เข้าข่าย 3  อาการเหล่านี้หรือเปล่า

 
  1) โรคไซนัสอักเสบ กลางวันอาจไม่ค่อยมีอาการ แต่กลางคืนจะไอมาก เพราะน้ำมูกไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะในคอ ทำให้ต้องไอเพื่อขับเสมหะออกมา หมอจะนึกถึงโรคนี้ถ้าลูกมีประวัติเป็นหวัดบ่อยๆ น้ำมูกใสบ้าง เหลืองเขียวบ้าง คัดจมูกเรื้อรัง บางครั้งมีไข้ อาจมีอาการปวดหัวหรือไม่มีก็ได้ อาจมีนอนกรน หายใจเสียงดัง มีเลือดกำเดาไหล ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น การวินิจฉัยทำได้โดยการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ รักษาโดยการกินยาแก้อักเสบอย่างต่อเนื่อง และหากเป็นโรคภูมิแพ้ก็ต้องรักษาร่วมกันไปด้วย เพื่อไม่ให้กลับเป็นซ้ำ

 
2) โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิไวเกิน (ภูมิแพ้) หรือหอบหืด ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการแพ้สารจากการกินหรือการสูดดม มักมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ตอนกลางวันไม่มีอาการ อาจเป็นเพราะไม่ได้เจอกับสิ่งที่แพ้ แต่กลางคืนเข้าห้องนอน อยู่บนเตียงนอน อาจมีฝุ่นหรือไรฝุ่นที่อยู่ตามตุ๊กตา หมอน ผ้าห่ม หรือพรม เมื่อสูดหายใจเข้าไปจึงกระตุ้นให้ไอหรือหอบได้

 
หมอเคยพบคนไข้ภูมิแพ้ที่แพ้นมวัว และแนะนำให้หยุดกิน ตอนกลางวันเขายอมกินนมถั่วจากกล่อง แต่กลางคืนติดดูดขวด และต้องเป็นนมวัวที่เคยชินเท่านั้น ผลคือตอนกลางวันไม่ไอ แต่ไอเฉพาะกลางคืนเช่นกัน รักษาโดยการกินยาหรือสูดยาพ่นขยายหลอดลม ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ คุณหมออาจสั่งยาให้ใช้ต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการ เช่น การกินยาแก้แพ้ (ยาเซทเทอริซีน ซิงกูแลร์) การสูดยาพ่นสเตียรอยด์

 
3) ภาวะการไหลย้อนกลับของน้ำย่อยหรืออาหาร จากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหาร (gastroesophageal reflux disease: GERD) คือ มีแรงดันจากกระเพาะอาหารมากกว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูด ซึ่งหดรัดอยู่ที่บริเวณรอยต่อของกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร ทำหน้าที่กันไม่ให้อาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนกลับ

 
ผู้ป่วยมักมีประวัติอาเจียนง่าย มีอาการแสบร้อนกลางอก ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ รู้สึกมีรสขมอมเปรี้ยวในปากเพราะกรดและของเหลวในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมา ที่มีอาการไอ ก็เพราะกรดที่ไหลย้อนเข้ามาในหลอดอาหารไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติของทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมหดเกร็งตัวจนเกิดอาการไอ และที่มีอาการไอตอนกลางคืน ก็อาจเป็นเพราะกินอาหารเย็นมากกว่ามื้ออื่นๆ พอถึงเวลานอนแล้วอาหารยังย่อยไม่หมด เมื่อนอนราบจึงมีโอกาสที่จะไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายกว่า

 
การวินิจฉัยทำได้โดยการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบลำไส้ เพื่อตรวจภาวะความเป็นกรดบริเวณหลอดอาหาร รักษาโดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด แล้วแต่ความรุนแรงของโรค

 

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up