ลูกดื้อ

เด็กดื้อ (พัฒนาการถดถอย) เพราะ 7 คำพูดไม่ดีจากพ่อแม่!!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกดื้อ
ลูกดื้อ

เด็กดื้อ เจอทีไรเป็นใครก็ไม่อยากเข้าใกล้เล่นสนุกด้วย แต่ใครจะรู้บ้างว่าลูกตัวน้อยมีพฤติกรรมดื้อไม่เชื่อฟัง อาจเป็นเพราะคำพูดจากพ่อแม่ที่ลูกได้ยินแล้วมากระทบกับใจของพวกเขา คำพูดไม่ดีแย่ๆ เพียงไม่กี่คำสามารถส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อ และเสี่ยงต่อพัฒนาการถดถอยได้ค่ะ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำพูดต้องห้ามที่ไม่ควรพูดกับลูกมาให้ทราบกันค่ะ

 

เด็กดื้อ (พัฒนาการถดถอย)เพราะ 7 คำพูดไม่ดีจากพ่อแม่!!

เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็น เด็กดื้อ กันหรอกใช่ไหมคะ แต่อย่างที่บอกไปว่าคำพูดของคุณในฐานะพ่อแม่สามารถเป็นตัวกำหนดอนาคตที่จะชี้วัดว่าลูกเติบโตขึ้นมาจะเป็นคนยังไง เด็กบางคนมีความขี้อายกลัวไม่กล้าแสดงออก เด็กบางคนอาจดื้อเงียบไม่ชอบรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้างมีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป หรืออีกมุมก็เป็นคนที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อให้พ่อแม่ได้เข้าใจถึงพฤติกรรมการแสดงออกของตัวเองไม่ว่าจะด้วยภาษากาย หรือคำพูด หากไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน อาจทำร้ายลูกทางอ้อมโดยไม่รู้ตัวได้ค่ะ และนี่คือ 7 คำพูดต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดกับลูก เพราะไม่ใช่แค่จะส่งเสียให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ครู หรือคนรอบข้างแล้ว คำพูดเหล่านี้ยังจะส่งผลต่อพัฒนาการลูกด้วยเช่นกันค่ะ

1. ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ดูเหมือนจะไม่ใช่คำพูดร้ายแรงอะไรใช่ไหมคะ เด็กเล็กๆ เขาก็มีหัวใจ มีความรู้สึกคิดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่แหละค่ะ คุณพ่อคุณแม่ลองนึกภาพตามค่ะ ถ้าเราพูดว่า “ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง!!” พูดแบบใส่อารมณ์หงุดหงิด โมโหลงไปด้วย แล้วพูดกระแทกใส่หน้าลูกเกือบจะทุกครั้งที่ลูกกำลังลงมือทำอะไรสักอย่าง แต่ทำไม่ได้สักที เช่น ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า ใส่เสื้อผ้า หรือแปรงฟันเอง เป็นต้น  รู้ไหมคะว่านั่นเป็นการบั่นทอนกำลังใจของลูก และทำให้ลูกหมดความมั่นใจในตัวเอง

ต่อไปไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือคุณครูที่โรงเรียนบอกให้เขาทำอะไรก็จะไม่กล้าทำ เพราะกลัวความผิดพลาด กลัวความไม่สำเร็จ ดังนั้นเรามาเปลี่ยนจากพูดย้ำๆ กับลูกตั้งแต่เล็กๆ ว่า “ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง” มาเป็นการพูดให้กำลังใจ สร้าง ความมั่นใจกับลูก ทุกเรื่อง ทุกกิจกรรมที่ลูกทำหากเป็นสิ่งดี พ่อแม่ต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกทำจนสำเร็จ และไม่ว่าลูกจะ ทำได้สำเร็จไม่ทั้งหมด หรืออาจไม่สำเร็จในครั้งแรก ก็ต้องให้กำลังใจลูกด้วยภาษากาย คือ การกอด และตามด้วยคำแนะนำ  คำพูดที่ปลอบใจให้ลูกมั่นใจว่าครั้งต่อไปเขาต้องทำได้ดีกว่าครั้งแรกนี้อย่างแน่นอน

2. หุบปากแล้วอยู่เงียบๆ

ถามนั่น ถามนี่อยู่ได้รำคาญ หุบปากแล้วอยู่เงียบๆ สักทีได้ไหม!? อืม…ได้ยินแบบนี้เป็นเราก็จุกจนเสียใจน้ำตาคลอได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าได้ยินจากคนที่เรารัก ดังนั้นหากถามว่าลูกจะเสียใจไหมถ้าพ่อแม่พูดกับเขาแบบนี้ ตอบค่ะว่า “เสียใจมาก” เด็กเล็กๆ เป็นธรรมดาที่เมื่อเขาเจออะไรแล้วเกิดสงสัยใคร่รู้ เขาก็จะถามเอาคำตอบจากพ่อแม่ เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเขาที่สุด  ฉะนั้นอย่ารำคาญลูก การที่ลูกเป็นเด็กช่างสังเกตจนเกิดความสงสัยว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้คืออะไร เป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะนั่นแสดงว่า พัฒนาการการเรียนรู้ของเขาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ซึ่งแน่นอนว่าอย่าให้คำพูดที่พูดเพียงเพราะตัดความรำคาญ ขี้เกียจตอบคำถาม ไปทำให้พัฒนาการลูกหยุดชะงักลงเลยค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

3. ทำแบบนี้เดี๋ยวไม่รัก

ลูกเล็กๆ เขาไม่รู้หรอกค่ะว่า ทำอะไรแบบไหนแล้วจะถูกใจพ่อแม่ เด็กก็คือเด็กเล่นซนสนุกสนานไปตามประสา บางทีพ่อ แม่บอกให้ทำนั่น หยิบนี่ให้หน่อย เขาก็อาจไม่ได้ตอบสนองในสิ่งที่เราร้องขอให้เขาช่วยในทันที อาจจะช้า โอ้เอ้ไปบ้างพ่อแม่อย่าเพิ่งหงุดหงิด จนหลุดคำพูดที่กลายเป็นว่าพ่อแม่เป็นคนเอาแต่ใจตัวเองไปซะเองนั่นคือ “ทำแบบนี้เดี๋ยวแม่ไม่รักนะ”,  “ไม่หยิบแก้วน้ำให้เดี๋ยวพ่อไม่รัก ไม่พาไปข้างนอกนะ” เป็นต้น คำว่าเดี๋ยวไม่รัก เป็นเหมือนคำขู่ ไม่ควรพูดให้ลูกได้ยินบ่อยๆ แรกๆ ลูกอาจกลัวว่าถ้าไม่ทำให้เดี๋ยวพ่อกับแม่จะไม่รัก แต่หากเขาได้ยินบ่อยๆ อาจกลายเป็นไม่รู้สึกอะไร และจะต่อต้านกับคำพูดพ่อแม่ ดื้อไม่เชื้อฟังและไม่ทำตาม

ดังนั้นแนะนำว่าแทนที่จะพูดขู่ให้ลูกกลัวเพื่อให้ลูกทำตามคำสั่ง ควรเปลี่ยนเป็นการพูดกับลูกด้วยเหตุและผล เช่น น้องเพลง หนูนั่งอยู่ใกล้ๆ ทิชชู่ช่วยส่งให้คุณแม่หน่อยได้ไหมคะ , น้องเกมครับต้นไม้ที่เราซื้อมาเมื่อวานไปดูกันว่าเหี่ยวหรือเปล่า จะได้ช่วยกันรดน้ำให้โตเร็วๆ , ไหนใครอยากได้ดาวเด็กดีสะสมไว้กินไอติมวันหยุดนี้ มาช่วยแม่ล้างจานกันดีกว่า เป็นต้น  ถ้าใช้คำพูดที่นุ่มนวลชวนฟัง ไม่ใช่แบบขู่บังคับ หรือหลอกให้กลัวด้วยคำว่าไม่รัก มาเป็นการให้เหตุผลหรือชี้ชวนให้เห็นว่าผลของการได้ช่วยพ่อแม่จะดีกับตัวเขายังไง ก็น่าเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายมากกว่าจริงไหมคะ

4. ทำไมน่ารำคาญอย่างนี้

เด็กๆ จะรู้สึกอบอุ่น และรู้สึกมั่นคงในจิตใจหากได้อยู่ใกล้ๆ พ่อแม่ ยิ่งถ้าช่วงลูกเล็กๆ มักจะป้วนเปี้ยนอยู่ข้างๆ เกือบจะตลอดเวลา ดังนั้นพ่อแม่อย่าเพิ่งหงุดหงิดลูก  แล้วแสดงท่าทีว่ารำคาญ ไม่ว่าจะออกมาเป็นการกระทำ หรือคำพูดก็ไม่ควรทำกับลูกทั้งนั้นค่ะ การที่เด็กถูกปฏิเสธจากพ่อแม่ไม่อยากให้ตนเข้ามาอยู่ใกล้ๆ เด็กจะซึมซับจนกลายเป็นไม่กล้าเข้าหาพ่อแม่ และเมื่อเขาเติบโตขึ้นหากมีปัญหา หรือเรื่องไม่สบายใจ หรือเรื่องอื่นๆ เขาก็จะไม่เลือกที่จะพูดคุย ปรึกษา แต่จะไว้ใจและเล่าให้เพื่อนรับฟังมากกว่า แน่นอนนั่นไม่ใช่เรื่องดีที่ควรจะเกิดขึ้นกับลูกๆ ที่บ้านของคุณใช่ไหมคะ

บทความแนะนำ คลิก>> 4 วิธีปราบลูกดื้อ วางอำนาจ เอาแต่ใจ จากนักจิตวิทยาต่างประเทศชื่อดัง (มีคลิปเหตุการณ์จริง)

5. ทำไมไม่เหมือนกับลูกคนอื่น

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบเอาลูกไปเปรียบเทียบกับลูกเพื่อน หรือแม้แต่การเปรียบเทียบระหว่างลูกคนโตกับลูกคนเล็ก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องค่ะ เพราะการที่เด็กถูกนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่นบ่อยๆ เขาจะมีปมอยู่ในใจตลอดเวลาว่าทำอะไรก็ไม่ดี ใช้ไม่ได้ในสายตาของพ่อแม่ ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และขาดความมั่นใจมาจนโตค่ะ

6. อย่าทำแบบนี้เดี๋ยวตำรวจจับ!

เชื่อว่าปัจจุบันนี้ก็ยังมีพ่อแม่มักพูดขู่ลูกว่า ถ้าดื้อมากๆ เดี๋ยวจะเอาตำรวจมาจับ เดี๋ยวให้ตุ๊กแกกินตับ เดี๋ยวคืนนี้นอนผีมาหลอกแน่ๆ การขู่เป็นการใช้คำพูดเพื่อสื่อออกมาว่า เมื่อทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ซึ่งภาษาที่พ่อแม่สื่อสารกับลูกเป็นสิ่งสำคัญในการลำดับความคิดของเด็ก การบอกเหตุและผลที่สอดคล้องกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า และพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย แต่การขู่ด้วยเรื่องไม่เป็นเหตุผลก็จะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้แบบเป็นเหตุเป็นผล และเมื่อโตขึ้นก็อาจจะยิ่งไม่เชื่อฟัง เพราะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริงนั่นเองค่ะ

7. ล้อเลียนเรื่องน่าอาย หรือ ปมด้อย

การนำปมด้อยมาล้อเลียน หรือเรื่องน่าอายของลูกๆ มาเล่า มาล้อให้คนอื่นฟัง อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด เสียใจ เป็นปมที่ฝังอยู่ในใจลูก และนอกจากจะไม่เกิดผลดีกับเด็กแล้ว อาจส่งผลกับพัฒนาการของลูกได้ด้วยเช่นกัน

เด็กดื้อ
Credit Photo : Shutterstock

อ่านต่อ 10 วิธีรับมือลูกดื้อ ให้อยู่หมัด คลิกหน้า 2

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up